ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,095 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 99,145 ราย รักษาหายเพิ่ม 1,351 ราย รักษาหายสะสม 63,667 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 565 ราย – ปรับพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 4 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ คลายล็อกนั่งกินอาหารในร้านได้ถึง 21.00 น. ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดจาก 45 จังหวัดเหลือ 17 จังหวัด
15 พ.ค. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 3,095 คน แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,215 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 3 คน และจากเรือนจำ 877 คน รวมตัวเลขสะสมระลอกใหม่ 70,282 คน หายป่วยแล้ว 36,241 คน รักษาในโรงพยาบาล 34,913 คน อาการหนัก 1,234 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 415 คน วันนี้มีผู้เสียชีวิต 17 คน รวมเสียชีวิตสะสม 471 คน คิดเป็นร้อยละ 0.67 ส่วนผู้ฉีดวัคซีนมี 2,218,420 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,445,428 คน และเข็มที่สองจำนวน 772,992 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต 17 คน แบ่งเป็น กทม. 8 คน สมุทรปราการ 3 คน สมุทรสาคร 2 คน ระยอง ชัยภูมิ ปทุมธานี ราชบุรี จังหวัดละ 1 คน โดยพบว่าเป็นชาย 9 คน หญิง 8 คน อายุระหว่าง 41-83 ปี มีโรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงติดจากคนในครอบครัว 5 คน (สามี-น้อง) จากเพื่อนร่วมงาน 4 คน ไปในสถานที่แออัด 3 คน อาศัยหรือเข้าไปในพื้นที่ระบาด 2 คน อาชีพเสี่ยง 2 คนคือแท็กซี่ และค้าขายในแคมป์ก่อสร้าง และระบุไม่ได้ 1 คน ทั้งนี้ การเสียชีวิตจาก COVID-19 อยู่ที่ 15 วัน หรือ 2 สัปดาห์ และนานที่สุด 29 วัน
ส่วนคนที่มาจากต่างประเทศ 3 คน เป็นคนไทยทั้ง 3 โดยลักลอบทางด่านพรมแดนธรรมชาติจากกัมพูชา 1 คน เป็นหญิงอายุ 23 ปี อาชีพนักคอมพิวเตอร์ ส่วนอีก 2 คน เดินทางเข้ามาทางด่านข้ามแดนถาวรทางบก เป็นชายอายุ48 ปี อาชีพพนักงานร้านอาหาร และหญิงอายุ 21 ปี อาชีพฟรีแลนด์
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า กทม.ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด 1,163 คน รวมตัวเลขสะสม 24,724 คน ,ปทุมธานี 222 คน รวมสะสม 1,961 คน ,สมุทรปราการ 201 คน รวมสะสม 3,936 คน ,นนทบุรี 126 คน รวมตัวเลขสะสม 4,370 คน ,สมุทรสาคร 37 คน รวมสะสม 1,767 คน ,สุราษฎร์ธานี 34 คน ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อยังกระจุก 100 คนขึ้นไปใน 4 จังหวัดคือ กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี
จากการประชุมศูนย์บริการแก้ไข กรุงเทพฯ -ปริมณฑล พบว่าตัวเลข กทม.ยังเป็นนิวไฮ พบการติดเชื้อรายวันสูงสุด 1,163 คน รวมตัวเลข 24,724 คน ส่วนในต่างจังหวัดเริ่มลดลง
สำหรับคลัสเตอร์ที่นำมารายงานวันนี้คือ เคสจังหวัดสมุทรปราการ คลัสเตอร์สุวรรณภูมิ ติดเชื้อ 105 คน ซึ่งกระจายในหลายส่วนของบริษัทเอกชนที่เกี่ยวโยงกับการขนส่ง ฝ่ายช่าง ฝ่ายบริการต่างๆ เร่งควบคุมโรคโดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งจะมีการให้ข้อมูลอีกครั้ง ส่วนคลัสเตอร์เรือนจำ กทม. ตรวจ 24,724 คน พบติดเชื้อสะสม 3,895 คน
นิวไฮ! กทม.ยังน่าห่วงรายวัน 1,163 คน จับตา 27 คลัสเตอร์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เลขา สมช.ยังมอบให้ 50 เขต ดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.- 13 พ.ค. ต่อประชากรพันคน พบว่ายังอยู่ในเขต กทม.ชั้นใน เช่น เขตปทุมวัน คลองเตย ห้วยขวาง ป้อมปราบศัตรูพ่าย
สรุปมี 17 เขตที่มีการระบาด (27 คลัสเตอร์) คือ ดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย สวนหลวง ปทุมวัน สาทร สัมพันธวงศ์ จตุจักร สีลม ประเวศ และวังทองหลาง และอยู่ระหว่างการสอบสวนและควบคุมโรค 20 คลัสเตอร์ ทั้งนี้ ควบคุมได้แล้วและใกล้ปิดการสอบสวน 7 คลัสเตอร์
เมื่อเจาะในรายคลัสเตอร์ จะพบอัตราการติดเชื้อ COVID-19 ดังนี้
เขตดินแดง คือ ตลาดห้วยขวาง อัตราการติดเชื้อ 2.25% , แฟลตดินแดง อัตราติดเชื้อ 3.26%
เขตคลองเตย คือ ที่พักคนงานก่อสร้างและชุมชนแออัดคลองเตย อัตราติดเชื้อ 3.83%
เขตหลักสี่ คือ แคมป์ก่อสร้าง อัตราติดเชื้อ 21.99%
เขตลาดพร้าว คือ บริษัทประกัน อัตราติดเชื้อ 7.70%
เขตราชเทวี คือ บริษัทไฟแนนซ์ อัตราติดเชื้อ 17.30% และประตูน้ำ อัตราติดเชื้อ 3.96%
เขตพระนคร คือ ปากคลองตลาด อัตราติดเชื้อ 5.58%
เขตดุสิต สี่แยกมหานาค สะพานขาว ตลาดผลไม้ คลองถมเซนเตอร์ เสือป่า วงเวียน 22 วรจักร และโบ้เบ้ อัตราติดเชื้อ 4.10%
นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์ที่พบใหม่ 5 เขต คือ เขตราชเทวี พบชุมชนคลองสามเสนและแฟลตรถไฟมักกะสัน ,เขตประเวศ ตลาดบุญเรือง อัตราติดเชื้อ 5.71% ,เขตบางรัก สีลม อัตราการติดเชื้อ 2.15% ,เขตทวีวัฒนา ชุมชนแออัด 15.23% และเขตสวนหลวง ร้านเฟอร์นิเจอร์
ในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา กทม.ส่งผลตรวจเชิงรุก 6 จุด เช่น จุดตรวจสนามกีฬาธูปเตมีย์ ศูนย์ไทยญี่ปุ่น-ดินแดง คลองถม ชุมชนห้วยขวาง เพชรบุรีซอย 5 จุดตรวจตลาดกลางดินแดง รวมผู้ตรวจหาเชื้อ 6,693 คน พบติดเชื้อ 285 คน อัตราร้อยละ 4.26
ปลดล็อกปรับ 4 จังหวัดควบคุมสีแดงเข้ม-กินในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม
นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุว่าที่ประชุม ศบค.มีมติปรับระดับพื้นที่ควบคุมทั่วราชอาณาจักรที่มีประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 6 จังหวัดคือ กทม.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปรการ ชลบุรี และเชียงใหม่ เหลือแค่ 4 จังหวัดคือ กทม.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับ 4 จังหวัดยังห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน แต่การบริโภคในร้านอาหาร นั่งในร้านได้ ไม่เกิน 25% โต๊ะ 4 คน นั่งได้ 1 คน เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. ยังงดการจำหน่ายและดื่มสุราภายในร้าน ร้านค้าสะดวกซื้อ เปิดบริการ 04.00-23.00 น. และยังงดใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน สนามกีฬากลางแจ้งเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. แข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชม ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ตามปกติ ไม่เกิน 21.00 น.
นอกจากนี้นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 45 จังหวัดเหลือแค่ 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรียะลาระนอง ระยอง ราชบุรี สมุทสาคร สงขลา สุราษฎร์ธานี
โดยห้ามจัดกิจกรรม รวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านได้ ไม่เกิน 23.00 น. งดการจำหน่ายและดื่มสุราภายในร้าน สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนได้โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สนามที่เล่นกีฬาเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม และผู้เล่น
ปลดล็อกนั่งกินในร้านได้ถึง 21.00 น.
สำหรับพื้นที่ควบคุม (สีส้ม)จาก 25 จังหวัดเป็น 56 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชัยนาทชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ น่าน หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พังงา พัทลุง พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานีอำนาจเจริญ
โดยกำหนดห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านได้ตามปกติ งดการจำหน่ายและดื่มสุราภายในร้าน สามารถใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนได้ตามมาตรการที่กำหนด สนามที่เล่นกีฬาเปิดได้ปกติ แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชมและผู้เล่น ทั้งนี้ การปรับรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศบค.ชุดใหญ่พิจารณา อีกครั้ง
คาดปลดล็อกเร็วสุดคืนนี้
“การที่เปิดให้ร้านอาหารนั่งกินได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ต้องการให้ผ่อนคลาย มาตรการปรับเปลี่ยนได้ แต่ที่ประชุมก็ยังมีความกังวลว่าอาจมีคนบางกลุ่มที่ผ่อนคลายจะเฮ แต่คนที่บางคนมองว่าอาจยังไม่ควรผ่อนคลาย ดังนั้นต้องบริหารทั้งยุทธศาสตร์และบริหารอารมณ์”
นพ.ทวีศิลป์ ระบุอีกว่า วันนี้มีการเชิญสมาคมภัตราคารไทยและสมาคมร้านอาหารขอให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ที่จะปฎิบัติในมาตรการหลักและมาตรการเสริมในการป้องกันโรค COVID-19 และขอให้ทำได้จริงๆ
“เร็วที่สุดคือ เที่ยงคืนวันนี้ (15พ.ค.) แต่จะต้องมีกระบวนการนำเสนอต่อท่านายกฯ เพื่อออกประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา แต่หากไม่ได้ก็เป็นคืนพรุ่งนี้ (16 พ.ค.)”
ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2]