เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ราชบุรี – สำนักงานปศุสัตว์ราชบุรี ร่วมกับท้องถิ่น นำน้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคหวัดใหม่ “ลัมปีสกิน” ที่เกิดขึ้นกับโค-กระบือ กำลังระบาดในพื้นที่ ต.คูบัว จ.ราชบุรี เพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
หลังจากที่ทางกรมปศุสัตว์ได้คุมเข้มโรคลัมปีสกิน และเร่งนำวัดซีนเพื่อกำจัดโรคให้สงบโดยเร็วนั้น ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี ได้มีหนังสือห้ามทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดออกไปจากพื้นที่ หมู่ 6, 13, 14, 15 พื้นที่ ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นการชั่วคราวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้ง
วันนี้ (18 พ.ค.) นายบุรินทร์ สรสิทธิ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี ได้ลงพื้นที่หลังได้รับการร้องทุกข์จากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคนี้ จึงได้ประสาน นายพจฐณศล ธนิกกุล นายก อบต.คูบัว ได้ร่วมกันนำน้ำยาเข้ามาฉีดพ่นบริเวณคอกวัวของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคขึ้นในบริเวณหมู่ 15 และ 16 ต.คูบัว เพื่อกำจัดแมลงตัวพาหะนำเชื้อโรค เช่น ยุง เห็บ หมัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
ปศุสัตว์ราชบุรีกล่าวว่า ได้ออกมาช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาโรคในวัว ซึ่งเป็นโรคหวัดใหม่ชื่อโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับโค และกระบือเท่านั้น ไม่ติดต่อถึงคน โรคนี้มีลักษณะอาการคือ พอได้รับเชื้อเข้าไปผิวหนังของวัวจะเป็นตุ่มๆ เหมือนกับคนที่เป็นอีสุกอีใสทั่วทั้งตัว เท่าที่เจอมามันจะเป็นเฉพาะลูกสัตว์ที่มีอายุน้อย ภูมิต้านทานน้อย ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรียหรือโรคอื่นๆ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ แต่ในสัตว์ใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาอาจจะดูน่าเกลียดผิวหนังจะหยองๆ
อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ในวัวนมก็เหมือนกัน หากเป็นในลูกสัตว์อาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่ในเฉพาะสัตว์ใหญ่ที่ให้นมจะทำให้น้ำนมลดลง พอน้ำนมลดชาวบ้านก็สูญเสียรายได้ เวลาไปรักษาพอฉีดยาเข้าไปชาวบ้านจะไม่สามารถส่งนมได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามควบคุมไม่ให้แพร่กระจายไปยังวัวนม เพื่อไม่ให้ชาวบ้านสูญเสียรายได้จากการส่งนมขาย
ขณะนี้ในจังหวัดราชบุรี มีอยู่ 2 อำเภอที่ตอนนี้ยังพบอยู่คือ ที่อำเภอเมือง กับอำเภอบ้านโป่ง ที่นครชุมภ์ การติดต่อของโรคนี้มาจากไวรัส พอสัตว์ได้รับเชื้อจะไปอยู่ในกระแสเลือด แล้วเวลาจะติดต่อเกิดจากยุง เหลือบ ลิ้นที่เป็นแมลงดูดเลือดที่อยู่ตามบ้านเรือน เวลากัดตัวที่ป่วยแล้วไปกัดตัวอื่นมันก็จะนำไวรัสที่อยู่ในเลือดไปแพร่กระจายได้
ดังนั้น วิธีการที่เรามาทำในวันนี้คือ ตัดวงจรพาหะคือทำการฉีดยาฆ่าแมลงเพื่อให้ตัวพาหะของโรคมันลดน้อยลง หรือหมดไป ทำให้ไม่มีการแพร่กระจายของโรคต่อไป ตอนนี้กรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการนำเข้าวัคซีน ต้องเรียนว่าโรคนี้เป็นโรคใหม่เป็นโรคที่ยังไม่เคยเกิดในประเทศเรา ตั้งแต่เราเลี้ยงวัวเลี้ยงควายมายังไม่เคยมี
เพราะฉะนั้นบ้านเราจึงไม่มีวัคซีนชนิดนี้อยู่ พอเริ่มเกิดโรคขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว จากทางอีสานไล่มา พอกรมปศุสัตว์ทราบถึงปัญหาช่วงนี้จึงอยู่ระหว่างการติดต่อเพื่อนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา
ในจังหวัดราชบุรี โรคลัมปีสกินนั้นได้ระบาดอยู่ในพื้นที่ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง และพื้นที่ หมู่ที่ 6, 13, 14, 15 ต.คูบัว อ.เมือง ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณกว่า 300 ตัว ซึ่งถ้ามีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคจะสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อของโรค ลัมปีสกินไปมากกว่านี้ได้