วันพฤหัสบดี ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564, 12.18 น.
“ม.ศิลปากร”ผนึกรัฐ พลิกฟื้นราชบุรี
ม.ศิลปากร จับมือหน่วยงานรัฐ-ภาคประชาสังคม ปักหมุดเมืองราชบุรีน่าอยู่ พลิกฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดึงอัตลักษณ์เด่น พร้อมปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว รับเปิดเมืองหลังโควิด
เมื่อพูดถึง “ราชบุรี” ผู้คนจะนึกถึง “เมืองโอ่ง” เป็นเบื้องแรก ขณะที่ประวัติศาสตร์เมือง และศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าถูกทิ้งไว้ข้างทาง กลายเป็นเพียง “เมืองทางผ่าน” ทั้งที่ราชบุรีมีความโดนเด่นทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อาทิ ผ้าขาวม้าบ้านไร่ ผ้าจกคูบัว เซรามิก นำมาสู่การจัดทำโครงการ “การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี เมืองสร้างสรรค์และน่าอยู่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน” ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร
ศาสตราจารย์ ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าชุดโครงการ กล่าวว่า โครงการวิจัยได้หลอมรวมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ 6 คณะ จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะโบราณคดี คณะมัณฑนศิลป์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มาบูรณาการทำงานร่วมกัน พร้อมกับดึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในจังหวัดราชบุรี และนำความต้องการและปัญหาท้องถิ่นมาเป็นโจทย์งานวิจัย
โครงการวิจัยมี 4 หัวข้อย่อย ประกอบด้วย 1. การอนุรักษ์และฟื้นฟู ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2. การพัฒนาศักยภาพทางการท่องเที่ยวของจังหวัดราชบุรี โดยการจัดการระบบโลจิสติกส์ รองรับการท่องเที่ยวสู่ชุมชน ด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยว 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ รวมถึงการสร้างสรรค์ต้นแบบงานศิลปะเพื่อสาธารณะ 4. การพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งขยะชุมชน และฝุ่น PM 2.5
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช อธิบการบดี มหาวิทยาลับศิลปากร กล่าวว่า โครงการนี้เราได้นำอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมารับใช้สังคม โดยร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของราชบุรี และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด 19 ที่จะทำให้หลายๆอย่างเปลี่ยนไป โดยเชื่อว่างานวิจัยของเราจะเป็นประโยชน์ในอนาคตกับจังหวัดและชาวราชบุรี
โครงการวิจัยฯได้สร้างแรงกระเพื่อมในจังหวัดราชบุรี ในงานเสวนาออนไลน์สรุปผลการวิจัย มีภาคส่วนต่างๆให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 40 คน นางศาริสา จินดาวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เสนอให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาอัตลักษณ์ของราชบุรีให้ชัดเจน เพราะราชบุรีไม่ได้มีแค่โอ่งเท่านั้น โดยเฉพาะการค้นหาอาหารพื้นถิ่นของราชบุรีที่เลือนหายไป พร้อมระบุว่า สำนักฯกำลังทำหลายโครงการเพื่อพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ราชบุรี ทั้งขุดเส้นทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านคูบัว และบ้านโคกพริก พร้อมกับงานอนุรักษ์สถานที่สำคัญ โดยเห็นว่าหากนำแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์มาเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ สะพานจุฬาลงกรณ์ ศาลเจ้าพ่อกวนอู สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดี และนำนักเรียนมาเป็นมัคคุเทศน์
การขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้ยังทำให้สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี มีแนวคิดจะขึ้นทะเบียนศาลเจ้าเป็นโบราณสถานด้วย นายศุภสิทธิ์ ลิ้มตระกูล คณะกรรมการโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี ระบุว่า ศาลเจ้าเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากในราชบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์จังหวัด โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเสนอเส้นทางท่องเที่ยวนำร่อง “ราชบุรีและชาวจีนโพ้นทะเล” จากวัดช่องลม – ซุ้มประตูจีน -ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี – ตลาดเก่าเมืองราชบุรี จะทำให้ศาลเจ้ากลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยจะมีการสร้างเครือข่ายเรียนรู้กับศาลเจ้าอื่นๆต่อไป
และเพื่อแต่งแต้มเมืองราชุบรีให้มีมลเสน่ห์ และร่วมสมัย นักวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาแต่งแต้มแลนด์มาร์คของเมือง ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทาง ขณะเดียวกันก็เพิ่มทักษะให้เยาวชนในการนำศิลปหัตถศิลป์ท้องถิ่นพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของราชบุรีด้วย และทั้งเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ และผลิตภัณฑ์ของดีราชบุรี จะถูกรวบรวมไว้ในแอปพลิเคชั่น Ratchaburi Connect ที่พัฒนาขึ้นจากโครงการวิจัย ซึ่งขณะนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยว
สำหรับโรงเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอย่าง “เบญจมราชูทิศ ราชบุรี” และดรุณาราชบุรี ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของประวัติท้องถิ่นราชบุรี และพร้อมจะพัฒนาศักยภาพนักเรียน รองรับการฟื้นฟูเส้นทางท่องเที่ยวประวัติศาสตร์
นอกจากนี้เยาวชนยังตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากมีส่วนร่วมในกิจกรรม “แยก-แลก-ไข่ เมืองเก่าราช(บุ)รี ใส่ใจลดขยะ” และกิจกรรม “สิ่งแวดล้อมอาสา” เพื่อเฝ้าระวังปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งความตระหนักดังกล่าว จะนำไปสู่เมืองราชบุรีน่าอยู่ที่สมบูรณ์ในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวตอนท้ายว่าโครงการการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรีฯ จะทำให้ราชบุรีกลายเป็นศูนย์กลางของ Smart City ในภูมิภาค และจะเป็นโมเดลให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป และยังสามารถเชื่อมการทำงานกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างเพชรบุรีได้อีกด้วย