‘โต๊ะแชร์สารคาม’ลาม
เด็ก4เดือนราชบุรีก็ติด
ตร.เรียกสอบ‘มะตูม’
ม.เกษตรกำแพงแสนวุ่น
นิสิตติดจากสมุทรสาคร
ตร.จ่อเรียกสอบ ‘ดีเจมะตูม’จัดปาร์ตี้วันเกิดในโรงแรมดังกลางกรุง หลังจนท.อนามัยมาให้ข้อมูล พบโรงแรม มีพนักงานติดเชื้อ 34 คน กำลังกักตัว ส่วนคลัสเตอร์โต๊ะแชร์มหาสารคามติดเชื้อแล้ว 16 โยงหลายจังหวัด ทั้งที่ขอนแก่น ราชบุรี พบกลุ่มเสี่ยงรอผลตรวจอีกนับร้อย ระบุไม่มีการใช้ “ไทยชนะ-หมอชนะ” ทำให้ติดตามสอบ สวนโรคยาก ศบค.เผยพบไทยติดเชื้ออีก 836 ยอดสะสมจ่อถึง 2 หมื่น ส่วนที่ แม่สอด-ตาก สุดวุ่น เปิดเรียนวันแรกได้แค่ชั่วโมงเดียว ก็ต้องสั่งปิดอีกหลังพบนักเรียนติดเชื้อโควิดอีก 5 ราย พ่อแม่ผู้ปกครองแห่รับลูกหลานกลับบ้านทันที ทางจังหวัดเร่งสอบสวนโรค ด้านกลุ่มนักดนตรีอิสระเข้ายื่นหนังสือจี้ ‘บิ๊กตู่’ ไฟเขียวเปิดผับบาร์ พร้อมเยียวยาหลังเจอพิษโควิด
ติดเชื้อเพิ่ม 836-จ่อ 2 หมื่น
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 1 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ไทยว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการพบผู้ติดเชื้อคนแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 และยังเป็นวันแรกของมาตรการผ่อนคลายของศบค.ด้วย ทั้งนี้เราผ่านระยะที่ 1 ของแผนการผ่อนคลายเมื่อวันที่ 25-31 ม.ค. ซึ่งมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจ.สมุทรสาคร สัปดาห์นี้ 1-7 ก.พ.จะยังคงเห็นมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างเข้มข้น แต่คาดหวังว่าตัวเลขที่รายงานในแต่ละวันจะเบาบางลง ถ้าเรายังร่วมมือกันได้อย่างต่อเนื่องอย่างนี้ วันที่ 8-15 ก.พ.คงจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายกันอย่างต่อเนื่อง
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 836 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 832 ราย มาจากต่างประเทศ 4 ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม หายป่วยเพิ่ม 899 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 19,618 ราย หายป่วยสะสม 12,514 ราย เสียชีวิตสะสม 77 ราย หากนับเฉพาะระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 15,381 ราย หายสะสม 8,574 ราย เสียชีวิต 17 ราย ยังรักษาอยู่ 7,027 ราย อาการหนัก 11 ราย
“ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ แบ่งออกเป็น 1.มาจากระบบเฝ้าระวัง 39 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 32 ราย กทม. 5 ราย และราชบุรี 2 ราย 2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 793 ราย ได้แก่สมุทรสาคร 782 ราย มหาสารคาม 6 ราย และกทม. 5 ราย และ 3.มาจากต่างประเทศ 4 ราย ได้แก่สหรัฐอเมริกา เบลเยียม มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร ประเทศละ 1 ราย ส่วนภาพรวมแผนที่ประเทศไทยมีรายงานจังหวัดผู้ติดเชื้อ 12 จังหวัดถือว่าลดลงต่อเนื่อง ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมี 14 จังหวัด จังหวัดสีเขียวไม่มีผู้ติดเชื้อเกิน 7 วัน มี 42 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ 5-6 วัน มี 4 จังหวัดเพิ่มขึ้น 3 จังหวัด สำหรับสถานการณ์โลก ยอดผู้ติดเชื้อ 103,523,190 ราย เสียชีวิตรวม 2,237,720 ราย”
‘โต๊ะแชร์สารคาม’ติดเชื้อรวม 16
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนการติดเชื้อภายในประเทศ จ.สมุทรสาคร จากการคัดกรองเชิงรุก มีคำถามมากมายทำไมตัวเลขการคัดกรองจึงสูงขึ้น 700-800 ราย ก่อนหน้านี้บอกว่าตัวเลขอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ คือคัดกรอง 100 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 7 ราย แต่อยากให้เห็นภาพของแผนที่สมุทรสาครทั้งหมด ทุกพื้นที่ไม่ได้เป็น 7 เปอร์เซ็นต์ทั้งหมด บางพื้นที่อาจไม่เจอผู้ติดเชื้อเลย บางพื้นที่แม้จะมีโรงงาน ตลาด ชุมชน ตัวเลขอาจจะเจอ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วงของสัปดาห์ที่ผ่านมามีการลงพื้นที่เชิงรุกในพื้นที่ไข่แดงหรือสีแดงเลือดหมู ในต.ท่าทรายและคลองมะเดื่อ ซึ่งมีการคัดกรองโรงงานหลายโรงที่มีพนักงานมากกว่า 10,000 ราย และเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขจะคัดกรองโรงงานที่มีมากกว่า 500 ราย ถ้าดูในส่วนของต.ท่าทรายและคลองมะเดื่อมีตัวเลขค่อนข้างสูง มีการรายงานผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองที่อาจมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารวมทั้งจังหวัดตัวเลขยังไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ และสัปดาห์นี้จะยังมีการคัดกรองต่อ แต่ตัวเลขคงจะเบาบางลง
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กทม.ก็มีการตรวจเช่นกัน ในเขตที่มีการรายงานผู้ติดเชื้อ ภาษีเจริญ บางบอน บางขุนเทียน หนองแขม บางแค และจอมทอง พื้นที่เหล่านี้มีโรงงาน จึงเข้าไปสำรวจและการตรวจ เช่น เขตภาษีเจริญตรวจ 1,231 ราย เจอผู้ติดเชื้อ 25 ราย บางขุนเทียน 3,211 ราย พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย เป็นต้น โดยรวมๆ ตรวจแล้ว 10,023 ราย จาก 59 โรงงาน พบผู้ติดเชื้อ 45 ราย คิดเป็น 0.47 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวเลขที่อยู่ในการประมาณการและควบคุมได้ ส่วนตัวเลขของจ.สมุทรสาคร 814 ราย กทม. 10 ราย ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือราชบุรี 2 ราย มี 1 รายมาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์จ.มหาสารคาม โดยจ.มหาสารคามวันนี้พบผู้ติดเชื้ออีก 6 ราย ยังเป็นกลุ่มเดียวมาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ โดยมาจากงานเลี้ยงเดียวกัน ยืนยันแล้ว 16 ราย และจ.ขอนแก่นอีก 1 ราย มาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์เดียวกัน
กลุ่มเสี่ยงอีก 110 คน
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงกรณีคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ จ.มหาสารคามว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกมา กทม. เชื่อว่าติดเชื้อจาก กทม. จากนั้นเดินทางกลับบ้านมหาสารคามวันที่ 3 ม.ค. ระหว่างทางโดยทางรถส่วนตัว แวะเมืองโคราชเยี่ยมพี่สาว ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย เดินทางกลับบ้านไปตลาด ไปโต้รุ่ง ไปร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารต่างๆ เหมือนแพตเทิร์นในหลายพื้นที่และมีงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ ซึ่งไม่ใช่งานเลี้ยงเดียว โดยรวมวันที่ 10-21 ม.ค. มี 5-6 งานเลี้ยง มีผู้สัมผัสรวมแล้ว 110 ราย จัดเป็นผู้ที่เสี่ยงสูง 78 ราย เสี่ยงต่ำ 32 ราย กำลังรอผลการสอบสวนโรคเพิ่มเติม ซึ่งจะยืนยันในรายละเอียดในการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ทั้งนี้ จ.มหาสารคาม พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้วันที่ 30 ม.ค. 6 ราย วันที่ 31 ม.ค. 4 ราย และวันนี้อีก 6 ราย ยังถือเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน โดย
ยืนยันเรียบร้อยแล้ว 16 ราย และจากงานเลี้ยงดังกล่าวทำให้มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นคือ จ.ราชบุรีที่มีรายงานติดเชื้อ 2 รายนั้น พบว่า 1 รายมาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ที่มาจากจ.มหา สารคาม และยังมีขอนแก่นอีก 1 รายที่มาจากงานเลี้ยงโต๊ะแชร์เช่นกัน
“สิ่งที่เรียนรู้จากงานนี้คือ อายุผู้ติดเชื้อ คนในงานเลี้ยงโต๊ะแชร์อาจมีอายุอย่างต่ำคือ 38-40 ปี แต่หลายท่านอายุ 60 กว่า 70 กว่าปี หลังติดเชื้อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลับบ้านยังมีการไปติดเชื้อต่อ เช่น ราชบุรีติดเชื้อหลานอายุ 4 เดือน ในการจัดงานเลี้ยงลักษณะนี้มีการดื่มสุรารับประทานอาหาร ไม่มีการสวมหน้ากาก ช่วงสัมผัสตรงนั้นเกิน 15 นาทีในสถานที่ปิด อาจมีการพูดคุยเสียงดัง ไอ จามรดกัน คงไม่มีโต๊ะแชร์ไหนที่ทำการคัดกรองไทยชนะ กลุ่มติดเชื้อเหล่านี้ไม่ได้ลงทะเบียนหมอชนะ ไทยชนะ ทำให้ติดตามสอบสวนโรคลำบากขึ้น” พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่ามีการผ่อนคลายแล้วร้านอาหารทำไมยังจำกัดเวลา เพราะตัวเลขลักษณะนี้เรานำมาวิเคราะห์และเรียนรู้ และอยากให้ผู้ประกอบช่วยเสนอมาตรการได้หรือไม่ จะมีการกำกับดูแลลูกค้าที่ใช้บริการอย่างไรเพื่อนำเสนอเข้ามา ศบค.จะพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ มาตรการทางสังคมดำเนินชีวิตต่อได้ ภายใต้เงื่อนไขการระบาดยังสามารถควบคุมได้ด้วย และถึงจะมีการผ่อนคลายมาตรการแล้วจะป้องกันการระบาดและความปลอดภัยได้หรือไม่ ก็ต้องขอความร่วมมือตลาด ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการทั้งหลายกำหนดมาตรการสูงสุด เรียกผู้ค้าผู้ประกอบการในพื้นที่มาพูดคุยให้ชัดเจนว่ามาตรการของราชการระบุอย่างไร และมาตรการรักษาความสะอาดต้องมีความเข้มงวด อาหารถูกสุขอนามัย มีมาตรการคัดกรองต่างๆ ด้วย โดยขอให้มีการเข้มงวดกันทั้งประเทศ เรายังไม่สามารถทำให้การติดเชื้อเป็นศูนย์แต่เราต้องการการคัดกรองให้เจอการติดเชื้อโดยเร็ว ไม่มีการปกปิดไทม์ไลน์ นำไปสู่การรักษาดูแลที่เหมาะสมและจำกัดวงการแพร่กระจายได้ไม่ให้ลำบากจนเกินไป ซึ่งวงการพบผู้ติดเชื้อบ้างจำนวนเล็กน้อย ภาคสาธารณสุข โรงพยาบาลยังสามารถให้การดูแลอย่างปลอดภัยได้
เปิดเรียน – บรรยากาศการเปิดเรียนวันแรกของโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร หลังสั่งปิดตั้งแต่ปลายปี 2563 มีการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 1 ก.พ.
วอนชะลอเดินทางข้ามพื้นที่
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ภาพรวมประเทศ ไทย รายงานจังหวัดพบผู้ติดเชื้อวันที่ 1 ก.พ. 12 จังหวัดถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดที่ยังไม่เคยมีผู้ติดเชื้อยังรักษาตัวเลขได้ที่ 14 จังหวัด และจังหวัดสีเขียวไม่มีผู้ติดเชื้อเกิน 7 วันแล้ว ยังอยู่ที่ 42 จังหวัด สีเหลืองบวก เพิ่ม 3 จังหวัด และจำนวนไข่แดงมีผู้ติดเชื้อลดลงไป 3 จังหวัด
“ขอฝากประชาชนทุกคนว่าจากวันนี้เป็นต้นไปมาตรการผ่อนคลายเริ่มต้นแล้ว แต่มาตรการควบคุมโรคเรายังต้องการ์ดสูง 100% อยู่ เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย และช่วงนี้ยังต้องขอความร่วมมือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ เหมือนคลัสเตอร์ที่เราเห็น เช่นจ.มหาสารคาม หรือในหลายจุดที่กรุงเทพมหานครที่เราได้เห็นข่าวกันไปแล้ว งานเลี้ยงและกิจกรรมการรวมกลุ่ม ที่จะมีคนมารวมตัวกันมากๆ ขอความร่วมมืองดเว้นไปก่อน แต่หากจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องเดินทางไปทำงาน การอบรมศึกษาใดๆ ขอให้กักตัวตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด เพื่อสุขภาพที่ปลอดภัยของทุกคน”
ตร.เรียกกทม.สอบคดีดีเจมะตูม
จากกรณีผอ.เขตสาทรเข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อขอให้ดำเนินคดีกับ “ดีเจมะตูม” และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จัดงานปาร์ตี้วันเกิดเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายในโรงแรมบันยันทรี เขตสาทร เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. กล่าวว่าว่า พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 สั่งการเพราะมีพื้นที่เกี่ยวเนื่อง 2 โรงพักคือสน.ทุ่งมหาเมฆ และสน.ลุมพินี เบื้องต้นสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนของดีเจมะตูม และมีหนังสือเชิญเจ้าพนักงานสำนักงานอนามัยของกรุงเทพมหานครมาให้ปากคำให้ความเห็น จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าวันนั้นมีการจัดงานเลี้ยงวันเกิดที่ห้องอาหารเวอร์ติโก้ โรงแรมบันยันทรี ขณะเกิดเหตุห้องอาหารเปิดให้บริการตามปกติ นอกจากคณะของดีเจมะตูม ยังมีบุคคลอื่นมาใช้บริการด้วย เบื้องต้นพบว่าโรงแรมมีมาตรการตรวจวัดไข้ มีเจลแอลกอฮอล์ รักษาระยะห่าง ต้องสอบถามความเห็นของเจ้าพนักงานสำนักงานอนามัย กทม.ว่ามาตรการที่ทางร้านอาหารดำเนินการถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนหลักฐานข้อเท็จจริงปรากฏว่า พื้นที่ของห้องอาหารเวอร์ทิโก้มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตร.ม. ซึ่งห้องอาหารมีคนใช้บริการ 65 คน ในส่วนของดีเจมะตูมมาใช้บริการ 14 คน จากนั้นเวลา 21.00 น. เป็นเวลาปิดทำการ ห้องอาหารปิดตามปกติ คณะของดีเจมะตูมก็มาต่อในห้องพัก ที่มีการเช่าห้องสูทต่อ 3 ห้อง พื้นที่ 351 ตารางเมตร ในห้องที่เกิดเหตุที่เราคิดว่าจะอยู่กันจำนวนมากพื้นที่ในส่วนตรงนั้นประมาณ 143 ตร.ม. และมีการใช้บัตรในการเข้า-ออกห้อง 26 ครั้ง ต้องตรวจสอบด้วยว่าการเข้า-ออกทั้งหมดจำนวนกี่คน เนื่องจากในการจัดงานวันเกิดมีการนัดหมาย 14 คน ตำรวจจึงต้องขอฟังความเห็นของเจ้าพนักงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเสนอข้อเท็จจริงให้เจ้าพนักงานสำนักอนามัย กทม.รับทราบ ก่อนจะขอทราบความเห็นว่าพฤติกรรมลักษณะนี้เข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งพิจารณาอยู่ 2 อย่างคือพ.ร.บ.โรคติดต่อ และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเรื่องการควบคุมโรค
จ่อเรียก‘ดีเจมะตูม’ด้วย
เมื่อถามว่าจะต้องเรียกดีเจมะตูมมาหรือไม่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ก็ต้องเรียกมาให้การ เพราะเบื้องต้นห้องอาหารเวอร์ติโก้ มีพนักงานให้บริการ 34 คน ทางโรงแรมมีมาตรการกักตัวและมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นผลเป็นลบ ก็ยังอยู่ระหว่างการกักตัวทั้ง 34 คน ยืนยันว่าการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน อย่างวันนี้เจ้าพนักงานสำนักอนามัย กทม.จะเข้ามาให้ความเห็น เนื่องจากตำรวจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรค และต้องให้เจ้าพนักงานสำนักอนามัย กทม.ให้ความเห็นว่ามาตรการที่ทางโรงแรมทำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ทั้งการ วัดไข้ เจลล้างมือ การักษาระยะห่าง รวมถึงพฤติการณ์ที่ไปต่อในห้องพักในจำนวนนั้นมีพฤติการณ์แบบนั้นจะเป็นการมั่วสุมและเป็นการเผยแพร่โรคหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นความเห็นจากผู้มีความรู้ทางสาธารณสุข
พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของร้านอาหาร จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีมาตรการ จากนั้นเข้าไปอยู่ในห้องพัก จากการตรวจสอบการใช้บัตรเข้า-ออกห้อง 26 ครั้งซึ่งมีการเช่าห้องสูท 3 ห้อง ขนาดต่างๆ กัน รวมพื้นที่ใช้สอย 351 ตารางเมตร ซึ่งต้องตรวจพิสูจน์ว่าเมื่อเข้าไปในห้องได้เข้าไปพร้อมกันหรือไม่ อยู่ในห้องกันกี่คน แล้วในห้องมีพฤติการณ์อย่างไร พยายามรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และสอบถามเจ้าพนักงานสำนักอนามัย กทม. เพื่อให้ความเห็นว่าลักษณะแบบนี้เป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อไหม หรือเป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรื่องการควบคุมโรคหรือไม่
“จากการตรวจสอบห้องอาหารดังกล่าว ไม่พบว่ามีการจำหน่ายสุรา ส่วนในห้องพักปรากฏหลักฐานเบื้องต้นว่ามีการสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนจะดื่มในห้องหรือไม่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน แต่มีการสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องมีอยู่แล้วตามมินิบาร์ของห้อง ซึ่งมีหลักฐานปรากฏเป็นใบเสร็จการจ่ายชำระค่าแอลกอฮอล์ที่อยู่ในห้อง ทั้งนี้ตำรวจไม่ใช่ผู้ชำนาญการเกี่ยวกับเรื่องโรคติดต่อ จึงจำเป็นต้องรอฟังความเห็น ได้รวบรวมพยานหลักฐานรายละเอียดทราบว่าใครเป็นคนเปิดห้อง ตอนนี้พิสูจน์ทราบตัวบุคคลอยู่และพฤติการณ์ที่ทำกิจกรรมในวันนั้น จึงต้องขอเวลาในการดำเนินการก่อน
ร.พ.สนาม – จังหวัดมหาสารคามเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามริมห้วย อาคารวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม 2 อ.เมือง
รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักมาก ทั้งเด็กผู้ใหญ่ หรือแบบครอบครัว เมื่อวันที่1 ก.พ.
จนท.อนามัยให้ข้อมูลตร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพ.ต.อ.ชัยพันธุ์ เพ็ชรสดศิลป์ ผกก.สน.ทุ่งมหาเมฆ สั่งการให้พนักงานสอบสวนเชิญตัวเจ้าหน้าที่อนามัย เดินทางเข้าพบเพื่อให้ความเห็นกรณีการแจ้งข้อกล่าวหากับ นายเตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม ซึ่งเพิ่งฉลองงานวันเกิดครบรอบ 31 ปี ที่โรงแรมบันยันทรี ถนนสาทร เมื่อวันที่ 9 ม.ค.64 จนเป็นเหตุให้มีผู้ติดโควิด-19 และเป็นข่าวโด่งดัง
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อนามัย 2 ราย เดินทางมาถึงโรงพักและเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนตั้งแต่ช่วงเที่ยงที่ผ่านมา โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสำนวนการสอบสวน ซึ่งผู้บังคับบัญชาระดับโรงพัก และบก.น.5 จะทำรายงานให้พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เป็นผู้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อไป
ผู้ว่าฯย้ายจากห้องความดันลบ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาครว่า ขณะนี้อาการดีขึ้นทำให้เบาใจขึ้น ไม่มีไข้ ผลเอกซเรย์ปอดดีขึ้น ระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะนี้ได้ปรับปริมาณการให้ออกซิเจนลดลง แต่ออกซิเจนในเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ดี แสดงว่าปอดดีขึ้น ส่วนระบบทางเดินอาหารให้ได้เต็มแล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อกระตุ้นการทำงานลำไส้ และร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ ผลการตรวจเลือดออกมาใกล้เคียงปกติ
“ผู้ว่าฯ ได้ออกจากห้องความดันลบเมื่อ วันที่ 31 ม.ค. มาอยู่ที่ห้องไอซียูระบบทางเดินหายใจ วันนี้ภรรยามาเยี่ยมก็เป็นช่วงจังหวะที่ผู้ว่าฯรู้สึกตัวพอดี หลังเริ่มถอยยานอนหลับ ทำให้รู้สึกตัวมากขึ้น เมื่อผู้ว่าฯ เห็นภรรยา ก็มีรอยยิ้มเป็นครั้งแรก แต่ยังพูดคุยไม่ได้ พอพบหน้าภรรยามีการหายใจเร็ว คาดว่าคงดีใจ ภรรยาจึงบอกให้หายใจช้าลง ก็ทำตาม แสดงว่ารับทราบและสมองทำงานดี ตอนนี้กำลังปรับหมวดให้หายใจได้เองมากขึ้น แต่การถอนเครื่องช่วยหายใจจะไม่ทำหวือหวา แต่จะค่อยๆ ถอยออกมา ย้ำว่าขณะนี้ห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม เพื่อความปลอดภัย และไม่รบกวนผู้ป่วยคนอื่น”
เมื่อถามว่าที่การทำงานของปอดดีขึ้น เป็นเพราะยาลดพังผืดในปอดหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้เป็นผลมาจากยาลดพังผืด เพราะยาตัวนี้กว่าจะออกฤทธิ์ต้องใช้เวลากว่า 1 เดือน แต่ที่ดีขึ้นเพราะยาลดการอักเสบ แต่ยานี้มีระยะเวลาการใช้ ให้นานไม่ได้ จึงปรับยาอีกรูปแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน การที่ปอดทำงานดีขึ้น สะท้อนว่าความเสียหายของปอดที่เคยคาดว่าเชื้อโควิดเข้าไปทำลายมากนั้น ยังเป็นส่วนที่สามารถฟื้นตัวได้ ตอนนี้ตนเบาใจไปเยอะแล้ว
จ่อเปิดตลาดกลางกุ้ง 8 ก.พ.
หลังจากสั่งปิดตลาดกลางกุ้งจ.สมุทรสาคร มาตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2564 เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วนั้น ต่อมาวันที่ 31 ม.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าฯสมุทรสาคร เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้อออกคำสั่ง เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริเวณตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ดังนี้ 1.ห้ามเปิดดำเนินกิจการใดๆ โดยให้หยุดการซื้อ การขาย การค้า และการทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการแปรรูปกุ้งและสัตว์น้ำประเภทอื่นในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค, 2.ให้ปรับปรุงอาคารหรืออาคารที่พักอาศัยในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และกำหนดจำนวนผู้พักอาศัยให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ และจำนวนห้องพัก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำอีก และ3.เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้ว ให้เสนอแนวทางปรับปรุงตลาด ให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครพิจารณา และเมื่อดำเนินการปรับปรุงตามที่เสนอเสร็จ จึงสามารถดำเนินการ กิจการซื้อขาย คัดแยก แปรรูปกุ้งและสัตว์น้ำประเภทอื่นได้ หรือเปิดดำเนินการในอาคารหรืออาคารที่พักอาศัยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.พ.2564 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
นายธีรพัฒน์กล่าวว่า ตามที่ศบค.เห็นชอบให้ผ่อนคลายมาตรการโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 แต่ยังคงให้จ.สมุทรสาครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้นในส่วนของตลาดกลางกุ้งจ.สมุทรสาคร ตามที่มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดสมุทร สาครก็เห็นชอบให้เปิดตลาดกลางกุ้งได้นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นการอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะเพื่อดำเนินการปรับ ปรุงตลาดให้มีความสะอาด
“ส่วนระยะเวลาดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างทางจังหวัดสมุทรสาคร กับแพต่างๆ ในตลาดกลางกุ้งที่มีอยู่ราว 50 แพ ที่ตกลงในเรื่องการปรับปรุงทำความสะอาด และปรับปรุงสถานที่ โดยเจ้าของแพเสนอมาว่า น่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินว่าสามารถเปิดได้หรือไม่ ถ้าระยะเวลา 1 สัปดาห์นี้ ภายในตลาดกลางกุ้งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดร่วมกัน แล้วผลการประเมินเป็นไปตามหลักสาธารณสุข ก็จะเปิดขายได้นับตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.นี้เป็นต้นไป แต่ถ้ายังมีบางส่วนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขก็จะต้องช่วยกันดำเนินการให้เรียบร้อย จนกว่าจะผ่านการประเมิน จึงจะกลับมาค้าขายได้”
นิสิตม.เกษตรฯติดโควิด
วันเดียวกัน นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากรองอธิการบดีที่ ดูแลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ว่าพบนิสิต 1 ราย ติดเชื้อโควิด-19 โดยนิสิตรายกังกล่าวพักอาศัยอยู่หอพักบริเวณนอกมหาวิทยาลัย
ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค หากทราบรายละเอียดชัดเจน จะเร่งดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด แต่เบื้องต้นยังไม่แน่ชัดว่านิสิตรายดังกล่าวเข้ามาทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยหรือไม่ หากพบว่า มีกิจกรรมตรงพื้นที่ใดก็จะปิดพื้นที่ดังกล่าวทันที และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของสธ.ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนิสิตราย ดังกล่าว เดินทางข้ามมาจากจ.สมุทรสาคร เพื่อมาเรียนที่มก. วิทยาเขตกำแพงแสน เนื่องจากเปิดให้เรียนในสถานที่ตั้งวันแรก
ประท้วงสธ. – สมาคมคราฟท์เบียร์ บุกแสดงสัญลักษณ์เทเบียร์สดทิ้ง ที่กระทรวงสาธารณสุข ชี้คำสั่ง ศบค.กระทบธุรกิจ พร้อมขอนั่งดื่มในร้าน ขายออนไลน์ โพสต์สินค้าลงโซเชี่ยลได้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.
แม่สอดวุ่นเปิดเรียน 1 ช.ม.ก็ต้องปิด
เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกที่จ.ตากมีมาตรการผ่อนคลายปลดล็อกในหลายสถานที่ รวมถึงมีคำสั่งให้โรงเรียนทุกแห่งตามแนวชายแดนจังหวัดตากเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนได้วันแรก แต่เกิดความโกลาหลวุ่นวายเกิดขึ้น เนื่องจากหลังจากโรงเรียนทุกแห่งในเขตเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก เริ่มเปิดเรียนได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งเด็กนักเรียนหลายคนต่างดีใจที่ได้มาพบเพื่อนและครูผู้สอนอีกครั้งหลังหยุดการเรียนไปนานกว่า 1 เดือน จู่ๆ ทางจังหวัดมีคำสั่งด่วนให้ปิดโรงเรียนทุกแห่งฉุกเฉินเร่งด่วนอย่างไม่มีกำหนดชั่วคราว
ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการตรวจเชิงรุกตรวจพบผู้ป่วยติดโควิด-19 เพิ่มอีกกว่า 5 ราย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีกลุ่มเด็กนักเรียนติดเชื้อรวมอยู่ในครอบครัวของผู้ป่วยกลุ่มใหม่ด้วย และผู้ป่วยกลุ่มนี้เดินทางไปทั่วพื้นที่อ.แม่สอดและมีบ้านพักอยู่ย่านใจกลางแม่สอด
หลังข่าวปิดโรงเรียนแบบฉุกเฉินเร่งด่วนแพร่สะพัดออกไปทั่วอำเภอแม่สอด ผู้ปกครองจำนวนมากตกใจกับข่าวพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ต่างแห่เดินทางไปรับตัวบุตรหลานแบบโกลาหลที่โรงเรียน ทำให้การจราจรทุกโรงเรียนในเขตเทศบาลนครแม่สอดทุกแห่งติดขัด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการตรวจเชิงรุกกำลังเร่งตรวจสอบไทม์ไลน์กลุ่มครอบครัวผู้ป่วยรายล่าสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้โรงเรียนในกทม.เปิดเรียนพร้อมกับทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นักดนตรียื่น‘บิ๊กตู่’สั่งเปิดผับบาร์
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มนักร้อง นักดนตรีอาชีพ นำโดยนายทักษะศิลป์ อุดมชัย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อติดตามเรื่องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยานักร้องนักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ผ่านนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง
นายทักษะศิลป์กล่าวว่า พวกเราอยากจะวอนรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนอาชีพนักร้อง นักดนตรีอิสระของพื้นที่ควบคุมสีแดง 5 จังหวัดคือ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เนื่องจากสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะในพื้นที่สีแดงนี้ยังถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมโรคระบาดของสาธารณสุข จนไม่สามารถกลับไปทำงานตามปกติ และส่งผลให้ตกงาน จึงมาทวงถามและขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ 3 เรื่องคือ 1.ขอให้ทบทวนเนื้อหาของหนังสือขอความช่วยเหลือกลุ่มนักร้องนักดนตรีอาชีพอิสระที่ยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ ไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา อย่างเร่งด่วนให้ช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ตรงจุด 2.ขอให้ทบทวนมาตรการเยียวยาเราชนะ ด้วยการจ่ายเป็นเงินสด สำหรับจ่ายหนี้สิน ค่าที่พักอาศัย ทั้งในกรณีผ่อนหรือเช่า และไม่ต้องห่วงว่าเราจะนำไปซื้อเหล้าเพราะว่าขนาดข้าวยังไม่มีกิน และ3.หากสามารถควบคุมการระบาดในเดือนก.พ.นี้ได้ อยากขอกลับไปทำงานโดยที่มีมาตรการร่วมกันทั้งสองฝ่ายเพราะโควิด-19 คงจะอยู่ไปอีกหลายปี ดังนั้นมาตรการที่สำคัญมากที่สุดคือมาตรการการอยู่ร่วมกันของทุกฝ่าย โดยให้รัฐช่วยเรา ให้สาธารณสุขช่วยเรา และนักร้องนักดนตรีก็ช่วยกัน ไม่เช่นนั้นหากระบาดอีก พวกเราก็ตกงานไปเรื่อยๆ แค่รอบ 2 เราก็ไม่ไหวแล้ว เดือดร้อนมากจริงๆ
โกลาหล – พ่อแม่พากันมารับลูกหลานกลับบ้าน หลังร.ร.ในเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก เปิดเรียนวันแรกได้เพราะพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 5 คน ซึ่งมีกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนอยู่ด้วย เมื่อวันที่ 1 ก.พ.