เปิดชีวิตเสือโคร่งของกลางในคดี “จืด-แดง-น้ำตาล” สัตว์ป่าที่อยู่ในป่าไม่ได้
(12 ก.ย.2565) ข่าวการลักลอบค้าสัตว์ป่า มีให้เห็นอยู่เป็นประจำในประเทศไทย หลายครั้งที่เจ้าหน้าที่สามารถสกัดจับผู้ต้องหา คุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และช่วยเหลือเหล่าสัตว์ป่าเอาไว้ได้
แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่าสัตว์ป่าเหล่านั้น หลังจากได้รับการช่วยเหลือ สุดท้ายชีวิตต้องเป็นอย่างไร?
วันนี้ทีมข่าวออนไลน์ Ch7HD News จะพาทุกท่านมาดูชีวิตของ จืด – แดง – น้ำตาล เสือโคร่งอินโดจีน ของกลางในคดี จากสัตว์ป่าผู้ล่า กลายเป็น สัตว์ที่อยู่ในป่าไม่ได้
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2555 ตำรวจ สภ.โนนศิลา จ.ขอนแก่นจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย พร้อมรถกระบะที่บรรทุกเอาลูกเสืออายุประมาณ 1 เดือนเศษ จำนวนมากถึง 16 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 8 ตัว และเพศเมีย 8 ตัว โดยคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลจังหวัดพล พิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปี ให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ริบของกลาง
กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้กระจายลูกเสือจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว ไปยังสถานีฯ ต่าง ๆ ที่มีความพร้อมในการดูแลลูกเสือโคร่ง โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ได้รับลูกเสือมาจำนวน 3 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว และเพศเมียอีก 1 ตัว มีรหัส PT05, PT09 และ PT14 ซึ่งขณะนั้นมีน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัมเศษเท่านั้น
ด้วยความเป็นเด็กเล็ก เจ้าหน้าที่ต้องดูแลทั้ง 3 ชีวิตอย่างใกล้ชิด คอยป้อนนมอยู่เสมอ โดยมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งลูกเสือทั้ง 3 ตัว จะเติบใหญ่กลายเป็นเสือโคร่งที่แข็งแรงและกลับคืนสู่ผืนป่า จึงไม่ได้ตั้งชื่อเล่นให้เพราะไม่คิดที่จะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่อาศัยเรียกตามลักษณะที่พบแบ่งเป็น
PT05 เรียกว่า เขียวหรือจืด เพราะสีดูจางกว่าตัวอื่น
PT09 เรียกว่า แดง เพราะสีเข้มกว่าตัวอื่น
PT14 เรียกว่า น้ำตาลหรือแฉะ เพราะตัวอื่นเลียจนหัวและหูเปียกตลอดเวลา
นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ จืด – แดง – น้ำตาล 3 เสือประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน
เมื่อเวลาผ่านไป คดีถึงที่สิ้นสุด เสือทั้ง 3 ตัวก็เติบใหญ่เป็นหนุ่มสาว จึงต้องแยกทั้งหมดออกจากกันเพื่อไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์จนมีลูกในกรงเลี้ยง แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นเพราะทั้ง 3 ตัวต่างร้องเรียกหากัน เพราะโตมาด้วยกันทั้งหมด สุดท้ายต้องพา จืดและแดง มาอยู่กรงเดียวกัน แต่น้ำตาลซึ่งเป็นตัวเมีย ต้องแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด
สภาพแวดล้อมภายในกรงถูกปรับปรุงโดยเจ้าหน้าที่ให้มีความเหมาะสมกับธรรมชาติในการใช้ชีวิตของเสือมากที่สุด มีขอนไม้ให้ลับเล็บ มีอ่างน้ำให้แช่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ติดปัญหาสำคัญคือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสอนเรื่องสัญชาตญาณในการล่าอาหารด้วยตัวเองให้แก่เสือทั้ง 3 ตัวได้ ทำได้เพียงเลี้ยงให้มีชีวิตรอดต่อไป เพราะเสือต้องมีพื้นที่เดินในวงรอบกว่า 80 กิโลเมตรเพื่อหากินและสืบพันธุ์ มองเห็นภูมิทัศน์กว้างไกล หากถูกเลี้ยงในกรงขนาดเล็ก ล่ามโซ่
“เสือถ้าเลี้ยงไม่ถูกต้องจะเริ่มซึม ไม่กินอาหาร หนักสุดอาจถึงตายได้” นายภาคภูมิ อร่ามศิริรุจิเวช หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน เปิดเผยกับทีมข่าวออนไลน์ Ch7HD News ถึงจุดเริ่มต้นและการเลี้ยงเสือทั้ง 3 ตัว
ปัจจุบันผ่านมานานนับ 10 ปี เจ้าจืด เจ้าแดง และเจ้าน้ำตาล ยังคงอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน คอยต้อนรับประชาชนที่เดินทางเข้ามาศึกษาชีวิตสัตว์ป่า โดยปัจจุบันที่สถานีฯ มีเสือโคร่งอยู่ถึง 26 ตัว จึงติดปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูเพราะเสือต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ หากใครชื่นชอบเสือทั้ง 3 ตัว สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมได้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด