นับเป็นบทเรียนราคามหาศาล สำหรับนักการเมืองไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี ย่อมมีโอกาสที่จะโดนเหมือนกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐกว่า 700 ไร่ เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง อาจหลุด ส.ส.
นับเป็นกรณีแรกที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ส.ส.ในฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง นับตั้งแต่มีประกาศใช้มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ป.ป.ช.ระบุว่า เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์ส่วนรวม เสื่อมเสียเกียรติภูมิ ส.ส.
บทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมทั้งฉบับ 2550 แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง จนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จึงมีบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิ ส.ส. และ ครม.เป็นต้น
รัฐธรรมนูญระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐ-ธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ที่ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ร้อง ป.ป.ช.เพื่อวินิจฉัย ถ้า ป.ป.ช.เห็นด้วย จะเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย เมื่อศาลประทับรับคำร้องแล้ว ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
รายงานข่าวระบุว่า มี ส.ส.ที่ถูกร้อง และกล่าวหาแบบเดียวกับ น.ส.ปารีณาอยู่ในหลายพรรค รวมแล้วกว่าสิบคน แต่กรณีอาจต่างกัน ที่เหมือนกันก็คือถูกกล่าวหาฮุบที่ดินรัฐ โดนข้อหาฝ่าฝืน จริยธรรมร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช.ไต่สวนอยู่ ส่วนชาวบ้านธรรมดาน่าจะโดนข้อหาบุกรุก ที่ดินรัฐมากกว่าหลายเท่า
แต่มาตรฐานทางจริยธรรม ที่ประกาศใช้บังคับกับนักการเมือง และ องค์กรอิสระ นอกจากข้อหาฝ่าฝืนมาตรฐาน จริยธรรมร้ายแรง หรือกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แล้ว ดูเหมือนว่าจะมีบทบัญญัติให้นักการเมือง “ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ด้วย
นักการเมืองที่ฝ่าฝืน เช่น ชอบขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือขัดขวางการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ สมควรถูกร้องเรียนและกล่าวหาไม่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยหรือไม่.