เดือน ก.ค.นี้ จะได้เวลานับหนึ่งพลิกโฉมเรือหางยาวที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อกรมเจ้าท่า (จท.) จะให้บริการ เรือหางยาวไฟฟ้า ต้นแบบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
กรมเจ้าท่า ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านการต่อเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าคือบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ได้ ร่วมกันพัฒนาเรือโดยสารหางยาว (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเรือเพลาใบจักรยาว) ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เป็นเรือต้นแบบที่ ลดมลพิษ และเป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อให้คนในชุมชนและผู้ประกอบการเดินเรือได้นำไปเป็นทางเลือกในการต่อเรือใหม่ หรือเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ดีเซลเก่ามาใช้มอเตอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทน
ขณะนี้ได้ต่อเรือต้นแบบเสร็จแล้ว 3 ลำ เป็น เรือไม้ 2 ลำที่ สจล.ดำเนินการ ต้นทุนประมาณลำละ 2.7 แสนบาท สูงกว่าเรือไม้หางยาวในปัจจุบันมีต้นทุนลำละประมาณ 1.7 แสนบาท และ เรืออะลูมิเนียม ที่ภาคเอกชนประกอบขึ้น 1 ลำ ต้นทุนลำละประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งชาร์จ 1 ครั้ง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง วิ่งได้ประมาณ 10 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถชาร์จไฟที่บ้านได้
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า บอกว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี ร่วมกับ นายภูเมศ สุขม่วง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องตรวจติดตามโครงการต่อเรือไฟฟ้าต้นแบบเรือโดยสารหางยาวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย พร้อมทดสอบการนั่งเรือหางยาวไฟฟ้าที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา
จากการทดสอบเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ไม่มีกลิ่นควัน ไม่มีเสียงดัง การออกตัวและขับเคลื่อนค่อนข้างนิ่ม แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับหางเรือเล็กน้อย ต้องใช้เวลาในการปรับปรุง รวมไปถึงทดสอบเรื่องการชาร์จไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ด้วย ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชื่นชอบมากเพราะช่วยลดมลพิษ ต้องการให้กรมฯ เร่งนำมาให้บริการและเป็นเจ้าภาพในการประสานงานในการผลิตเรือหางยาวไฟฟ้า ทั้งนี้ หากผลิตจำนวนมากจะช่วยลดต้นทุนลงได้ประมาณลำละ 1.1 แสนบาท โดยเรือไม้จะเหลือต้นทุนลำละประมาณ 1.7 แสนบาท
นายวิทยา เล่าที่มาโครงการด้วยว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่าได้รับ ผลกระทบ จากปัญหาเรือหางยาวในตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่มีประมาณ 700 ลำ โดยให้บริการนักท่องเที่ยวและใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งติดเครื่องยนต์วิ่งด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดคลื่นและ มีเสียงดังควันดำรบกวน เกิดมลพิษทางเสียง อากาศ และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน
จึงมอบหมายสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครปฐม สำนักมาตรฐานเรือร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนที่มีศักยภาพด้านการต่อเรือขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันจัดโครงการเรือไฟฟ้าต้นแบบเรือโดยสารหางยาวที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย
โดยกรมฯ จะแนะนำผู้ประกอบการและชุมชน เปลี่ยนมาติดตั้งเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นก่อน 8-10 ลำ อนาคตค่อยๆ เพิ่มจำนวนให้มากขึ้นเพื่อรองรับการบริหารนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าเรือไม้ต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะทดลองวิ่งบริการที่ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ประมาณเดือน ก.ค.นี้…..ส่วนเรืออลูมิเนียมจะนำไปทดลองใน ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากมีขนาดใหญ่ สภาพลำคลองกว้าง ภายหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลง จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันกรมฯ ได้จัดทำร่างข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการตรวจเรือ โดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าให้เหมาะสมกับเรือหางยาว ที่จะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อยู่ในขั้นตอนการเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณารองรับการนำร่องพัฒนาเรือหางยาวท่องเที่ยวให้เป็น เรือไฟฟ้าต้นแบบเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (go green) วิถีใหม่ปลอดภัยไร้มลพิษอย่างยั่งยืน
วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนที่นำมาเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวตลาดน้ำดำเนินสะดวกและตลาดน้ำอัมพวาด้วยเรือเครื่องหางยาวกำลังจะโกกรีนเป็นเรือหางยาวไฟฟ้า
———————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง