สธ.เผย ประจวบ-ราชบุรี-นนท์ พบติดโควิด-19 เชื่อมสมุทรสาคร-ปทุมฯ เร่งค้นหากลุ่มเสี่ยงสกัดลาม
วันนี้ (11 มีนาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง โดยสัปดาห์นี้แม้ยังไม่ครบสัปดาห์ แต่ผู้ติดเชื้อเหลือ 293 ราย ลดลงจาก 3 สัปดาห์ก่อน ที่ติดเชื้อ 918 ราย ลดเหลือ 558 ราย และ 424 ราย ตามลำดับ ส่วนสัปดาห์นี้ พบผู้ติดเชื้อ 12 จังหวัด ใกล้เคียงกับ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ที่พบ 19 จังหวัด 16 จังหวัด และ 11 จังหวัด สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ การติดเชื้อใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ราชบุรี เกี่ยวเนื่องกับ จ.สมุทรสาคร ส่วน จ.นนทบุรี ติดเชื้อเกี่ยวเนื่องกับ จ.ปทุมธานี
“สำหรับการคัดกรองเชิงรุก กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบติดเชื้อ 10 ราย ส่วนหนึ่งพบในสถานกักตัว ห้องกักบางเขน 8 ราย ซึ่งเป็นผู้ลักลอบเดินทางเข้ามาในไทยจากชายแดนมาเลเซีย ทั้งคนเมียนมาและกัมพูชา บางส่วนถูกจับกุมและกักตัวที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อยู่ก่อน และจะดำเนินคดีเพื่อผลักดันกลับประเทศ จึงส่งตัวมาดำเนินคดีที่ กทม.จากการเฝ้าระวังเมื่อมาถึง ก็พบการติดเชื้อ แต่มีการระวังไม่ให้แพร่ไปสู่คนอื่น และไม่ได้เป็นการติดเชื้อในพื้นที่ ส่วนคนเมียนมาลักลอบเข้าประเทศทางช่องทางธรรมชาติ พบติดเชื้อ 1 ราย ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงมีการตรวจค้นเชิงรุกเจอการติดเชื้อเพิ่มใหม่อีก 3 ราย แต่ยังไม่ได้รายงานวันนี้ คงรวมยอดพรุ่งนี้เป็นทางการอีกครั้ง ทั้งนี้ คนที่เข้ามาช่องทางธรรมชาติเรายังให้ความสำคัญตลอด” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนกรณีสามีภรรยาขายอาหารในโรงงานแห่งหนึ่ง จ.ปราจีนบุรี มีการติดเชื้อ 5 คน คือ สามี ภรรยา และลูกจ้างในร้าน 3 คน จากการติดตามผู้สัมผัส พบว่า ผู้สัมผัสร่วมบ้าน 4 ราย ได้แก่ ลูกชาย สะใภ้ หลาน และสูกสาว กลุ่มคนงานช่วยร้านอาหารตอนกลางวัน 7 คน และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตรวจไม่พบเชื้อ รอตรวจครั้งที่ 2 ส่วนการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน 1,428 ราย ไม่พบเชื้อเช่นกัน ถือเป็นข่าวดีคือยังไม่มีการแพร่กระจาย
“สำหรับโอกาสระบาดระลอก 3 จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชน และนโยบายการควบคุมโรคเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ วัคซีนป้องกันการป่วยหนักรุนแรงและเสียชีวิตได้ผล แต่การป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายต้องติดตามให้ชัดเจน จึงยังวางใจส่วนนี้ไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องล้างมือ เว้นระยะห่าง และสวมหน้ากาก ถ้าทำดี ระลอกใหม่ก็จะน้อย รวมถึงช่วงใกล้สงกรานต์ หลายคนคาดหวังการผ่อนคลายหลายอย่าง แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายอย่างไร วิธีการป้องกันตัวเองสำคัญที่สุดทำให้เราป้องกันการระบาดกลุ่มก้อนใหญ่ๆ ครั้งต่อไป โดยเฉพาะคนวัยทำงาน เดินทางออกนอกบ้าน การดูแลความสะอาดลดเสี่ยงนำโรคสู่คนในบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ช่วยป้องกันการป่วย เสียชีวิตและการระบาดอย่างดี” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 10 มีนาคม รวม 11 วัน ฉีดแล้ว 36,797 ราย เป็นบุคลากรการแพทย์ รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 27,984 ราย เจ้าหน้าที่อื่นที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,718 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 680 ราย และประชาชนพื้นที่เสี่ยง 415 ราย อาการไม่พึงประสงค์ที่รายงานผ่านหมอพร้อม ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงไม่ต้องใช้ยาหรือนอนรักษาใน รพ. ส่วนเข้าเกณฑ์รุนแรงสอบสวนโรคยังไม่มีรายงาน
“ทั้งนี้ หลายจังหวัดฉีดวัคซีนได้ครบ 100% ตามเป้าหมายแล้ว ได้แก่ สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ส่วนเชียงใหม่ฉีดได้ ร้อยละ 96.5 ส่วนที่เกิน ร้อยละ 70 คือ ตาก นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ขณะที่บางจังหวัดตัวเลขการฉีดไม่มาก แต่เป็นการตั้งต้นต้องให้แน่ใจระบบบริการ เมื่อระบบเข้าที่ จำนวนการฉีดจะก้าวหน้ารวดเร็ว ส่วนผู้ที่เริ่มฉีดโดสแรกวันต้นๆ จะนัดหมายมาฉีดประมาณวันที่ 21 มีนาคมนี้ ไล่ตามลำดับ” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีสเปรย์แอลกอฮอล์เข้าตาอันตรายหรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ถ้าแอลกอฮอล์เข้าตา อาจเกิดการระคายเคือง แต่ไม่รุนแรงมาก โดยเฉพาะเวลาพ่นสเปรย์ จะเป็นละอองฝอยน้อยๆ กลไกร่างกายเราป้องกันตัวเอง เพราะแม้แต่ละอองไอน้ำเข้ามาเราก็หลับตาปิดตาอยู่แล้ว ก็จะช่วยป้องกัน จากนั้นล้างหน้าล้างตา หากระคายเคืองก็ล้างน้ำสะอาดปริมาณมากๆ หากระคายเคืองมากก็พบแพทย์ ไม่น่ากังวลอะไร