น่าจะเรียกได้ว่าที่นี่คือโบราณสถานที่พาคุณย้อนเวลากลับไปสู่ยุคทวาวรดีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการสันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้น ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไล่เลี่ยกับการสร้างเมืองราชบุรีเก่า และต่อมาได้มีการสร้างปราสาทศิลปะเขมรซ้อนทับเข้าไปราวพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อสร้างที่นี่ให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามความเชื่อ เรื่องคติจักรวาลของเขมร จากนั้นปราสาทที่สร้างคงเกิดการพังทลายลงและได้มีการสร้างปรางค์ใหม่ในสมัยต้นอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ดังที่เห็นในปัจจุบัน ไฮไลต์น่าชม – วิหารหลวง อันเป็นที่ประดิษฐานพระมงคลบุรี พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดหน้าตักกว้าง 8 ศอก 1 คืบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นมีพระพักตร์สุโขทัยพระองค์ยาวพระชาณุสั้น (ตัวยาวเข่าสั้น) หันหน้าสู่ทิศตะวันออกด้านหลังสร้างพระหันหลังให้กันอีกองค์หนึ่งหันหน้าสู่ทิศตะวันตกซึ่งหมายความถึงอาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลังเรียกพระรักษาเมืองตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา – องค์พระปรางค์มีความสูง 24 เมตรปรางค์ประธานและปรางค์บริวารทิศใต้ทิศตะวันตกทิศเหนือตั้งอยู่บนฐานเดียวกันส่วนทางทิศตะวันออกมีมุขยื่นออกมามีบันไดขึ้นฐานเรือนธาตุและส่วนยอดประดับด้วยลายปูนปั้นภายในองค์ปรางค์ประธานมีคูหาเชื่อมถึงกันผนังส่วนบนเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าในซุ้มเรือนแก้วเป็นแถวเรียงต่อกันตอนล่างเป็นพุทธประวัติสันนิษฐานว่าเขียนพร้อมกับการสร้างองค์ปรางค์และซ่อมแซมพร้อมกับองค์ปรางค์ในเวลาต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 22 วิหารคตรอบลานพระปรางค์มีพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีสมัยลพบุรีและสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่โดยรอบด้านหน้าพระปรางค์มีอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีความยาว 127 คืบ 9 นิ้ว – พระอุโบสถสันนิษฐานจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมว่า น่าจะก่อสร้างขึ้นตอนปลายสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 22 และได้ซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ.2509 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาลด 2 ชั้น 3 ตับเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องด้านหน้าและด้านหลังทำพาไลยื่นรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนจำนวน 3 ตับด้านข้างมีชายคาปีกนกโดยรอบฐานอาคารมีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลายคือแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภาหรือที่เรียกว่าแอ่นท้องช้างซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนประดับกระจกเป็นซุ้มหน้านางภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานดอกบัวด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3232 1597, 0 3232 6669