ปทุมธานีพบกลุ่มก้อนโควิด-19 ใหม่ โรงงานชำแหละเนื้อสุกร ติดเชื้อ 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีในระบบลูกจ้างรายวัน
วันนี้ (1 มี.ค.64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่าวันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 80 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 28 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 36 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม รักษาหาย 196 ราย
ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 1 มีนาคม 2564 จำนวน 21,794 ราย รักษาหายสะสม 21,147 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 เสียชีวิตสะสม 23 ราย อยู่ระหว่างรักษา 624 ราย โดยผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้จำนวน 64 ราย พบใน 8 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี 35 ราย สมุทรสาคร 19 ราย ตาก 3 ราย นครปฐม และ กทม. จังหวัดละ 2 ราย ชลบุรี ราชบุรี และนนทบุรี จังหวัดละ 1 ราย
ส่วนภาพรวมจังหวัดปทุมธานี จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจากการระบาดระลอกใหม่ ( 15 ธ.ค. 63 – 28 ก.พ.64 ) พบผู้ติดเชื้อ 664 คน เป็นคนไทย 57 % เมียนมา 37.58% ลาว 1.91 % เป็นการติดเชื้อในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและลูกจ้างในตลาด
ทั้งนี้แนวโน้มการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนโซนตลาดพรพัฒน์-สุชาติ มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม จากการระบาดดังกล่าว ทำให้จังหวัดกำหนดมาตรการให้พ่อค้า แม่ค้า ลูกจ้างทุกคนต้องตรวจโควิด 100% และออกใบรับรองโควิดที่เรียกว่า “โควิด พาสปอร์ต” เพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนในการค้นหาเชิงรุก
ซึ่งผลจากการทำโควิดพาสปอร์ตดังกล่าวเป็นผลให้การตรวจสอบค้นหาในชุมชนของจังหวัดปทุมธานีเพิ่มเติม ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อกลุ่มก้อนจากโรงงานชำแหละเนื้อสุกร ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตลาดพรพัฒน์–สุชาติ โดยรายงานตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยตรวจไปทั้งหมด 88 ราย ไม่พบเชื้อ 35 ราย และพบติดเชื้อ 53 ราย
ในจำนวนนี้ มี 32 ราย ที่รายงานเข้าระบบในวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งการตรวจและพบการติดเชื้อในกลุ่มนี้คิดเป็น 60.22% เป็นต่างชาติ 92% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีในระบบลูกจ้างรายวัน และสัญชาติไทย 8% ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงรูปแบบการสอบสวนโรคให้เพิ่มสถานที่ทำงานอื่นๆ ร่วมด้วย
“เบื้องต้นมีการสั่งปิดโรงงานแห่งนี้เพื่อทำความสะอาดแล้ว สำหรับเนื้อหมูยังรับประทานได้ แต่ต้องปรุงสุกใหม่ ส่วนที่มีข่าวโรงงานมีการปกปิดข้อมูล จากรายงานเบื้องต้น หากดูวันที่เริ่มต้นป่วยวันที่ 26 ก.พ. มีการรายงานผลวันที่ 1 มี.ค. ระยะเวลาไม่ห่างกันมาก ยังไม่พบสิ่งผิดปกติแต่ต้องรอผลสอบสวนโรครายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มีอาการน้อย จึงทำให้ไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นอาการไม่ได้กลิ่นที่สังเกตได้ชัด”
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ได้กระจายส่งไปใน 13 จังหวัดแล้ว ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ 3,520 โดส, ตาก 5,000 โดส, นครปฐม 3,500 โดส, ราชบุรี 2,520 โดส, สมุทรสงคราม 2,000 โดส, ภูเก็ต 4,000 โดส, นนทบุรี 6,000 โดส, ปทุมธานี 8,000 โดส, สมุทรปราการ 6,000 โดส, ชลบุรี 4,720 โดส, กรุงเทพฯ 33,600 โดส, สมุทรสาคร 15,040 โดส และสุราษฎร์ธานี 2,520 โดส รวม 116,520 โดส
ส่วนผลดำเนินการฉีดวัคซีน 1 มีนาคม ข้อมูลเมื่อ 10.00 น. นครปฐมฉีดไปแล้ว 14 ราย, นนทบุรี 93 ราย, สมุทรสาคร 210 ราย, สมุทรปราการ 2 ราย รวม 319 ราย ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงหลังได้รับวัคซีน แต่อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดบ้าง ซึ่งเป็นปกติของการฉีดวัคซีน บางรายมีอาการบวมเล็กน้อย แต่อยู่ในความปลอดภัย ถือว่าเป็นผลที่น่าพอใจ