กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี รวมกลุ่มจักสานงานไม้ไผ่ทำตะกร้าให้ไก่ฟักไข่เป็นภูมิปัญหาท้องถิ่น กับการใช้เวลาอยู่กับบ้านช่วงโควิด มีรายได้ไม่เหงา ขายส่งทั้งตลาดออนไลน์ และแหล่งท่องเที่ยว
ไม้ไผ่ลำขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ในชุมชน ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ถูกนำมาสร้างสรรค์ด้วยฝีมือของผู้วัย ที่ใช้เวลาอยู่กับบ้านให้เกิดประโยชน์ แต่ละชิ้นใช้ระยะเวลาที่ยาวนานข้ามวันข้ามคืนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างตามความถนัดของแต่ละคน อย่างคุณป้าบางคนนัดด้านจักสานเข่ง เปล ตะกร้า คุณยายอีกคนถนัดด้านการสานกระบุงขนาดเล็ก และพัฒนาให้กลายออกมาเป็นเป้สะพายหลัง และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามความถนัดแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ด้วยฝีมือและใจรักทำให้ทุกคนรวมกลุ่มสร้างสรรค์ชิ้นงานจักสานไม้ไผ่ขึ้นมา หวังใช้เวลาที่เหลือให้กับงานที่ตนเองรักและผูกพัน
นางสาวพิมพ์ชนก ห้วยหงส์ทอง อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 129 /1 หมู่ 6 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง ประธานกลุ่มจักรสานบ้านท่าเคย เปิดเผยว่า เป็นการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุที่มีอยู่เดิมแล้ว จากการสานเข่งราคาเพียงไม่กี่บาท ตั้งแต่มีตลาดชุมชนเกิดขึ้นได้มีการดัดแปลงให้มีมูลค่า เช่น การสานโง การทำกระเป๋าใบเล็ก ช่วงปัจจุบันเจอสถานการณ์โควิด -19 ทำให้สินค้าขายไม่ได้ จากที่ได้นำไปฝากขายในตลาดชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่ถูกปิดตัวไป จึงคิดรวมกลุ่มสร้างภูมิปัญญาชุมชนขึ้น โดยมาดูว่า คุณป้า คุณยาย แต่ละคนนั้นมีฝีมือทำอะไรบ้าง เช่น คุณยายจะมีฝีมือการสานรังไก่เพื่อให้ไก่ได้ทำรังฟักไข่ จึงทดลองนั่งทำดูลักษณะจักสานด้วยไม้ไผ่เส้นเล็ก ๆ มีขาตั้งด้วย ตอนนี้มีออเดอร์สั่งเข้ามาเรื่อย ๆ เป็นการรวมกลุ่มที่ใช้ความถนัดของแต่ละคนมาช่วยกันทำชิ้นงาน แต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน เช่น คุณยายคนนี้ถนัดการสานโง หรือ เป้ไม้ไผ่ เราเรียกว่า โง แต่วัยรุ่นจะเรียกว่าเป้ไว้ใส่ของได้ มีทั้งทรงเหลี่ยม ทรงกลม ส่วนของตนเองก็จะเป็นคนโพสต์ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มยั่งยืน มียอดขายมาตลอดต่อเนื่อง แต่บางช่วงไม่มียอดขายเลย ทางคุณยายก็จะสานเข่งใบใหญ่ขาย เพราะว่าไม้ในชุมชนมีอยู่เยอะ แต่ละคนจะมีสวนของตนเองอยู่แล้วจึงนำไม้ไผ่มาช่วยกันจักสาน มีทั้งไผ่หนามเป็นลักษณะต้นใหญ่ไว้ทำเปล ไม้ไผ่รวกจะมีขนาดเล็กเอามาจักสาน เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน
นางสาวพิมพ์ชนก ห้วยหงส์ทอง กล่าวอีกว่า ในกลุ่มมีเกิน 10 คน และยังมีหมู่บ้านใกล้เคียงอีกที่อยู่ใน อ.สวนผึ้ง ทางอำเภอได้ตั้งเป็นกลุ่มเกี่ยวกับสุขภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น และได้ตั้งให้ตนเองในตำแหน่งคณะกรรมการด้านภูมิปัญญา จึงไปศึกษาข้อมูลแต่ละชุมชนมีอะไรบ้างที่โดดเด่น เช่น รังไก่ไข่ที่เคยสานใช้กันในอดีต จะไม่ค่อยพบเห็นในปัจจุบัน ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีแนวคิดนำกลับมาปรับปรุงใหม่ ได้ประโยชน์ สร้างความแปลกตา สำหรับคนที่ซื้อไปแล้ว อีกทั้งที่นี่ยังเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว พื้นที่สวนผึ้งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเยอะ จึงอยากสร้างความแปลกใหม่อยู่เรื่อย ๆ
สำหรับด้านการตลาดจำหน่ายที่กลุ่มจักสานบ้านท่าเคยหมู่ 6 ส่วนตลาดอื่น ๆ จะเข้ามารับที่กลุ่มฯไปจำหน่าย โดยการสั่งจองยอดไว้ก่อน ทั้ง 4 ตำบลใน อ.สวนผึ้งจะมารวมกันที่จุดนี้ ส่วนผลกำไรเป็นชิ้นงานของแต่ละคน ที่นำมาวางจำหน่าย ชิ้นงานใหญ่จะใช้เวลาหลายวัน เพราะแต่ละคนจะมีอายุมากแล้ว มีประโยชนช่วยสร้างคุณค่าแก่คนในชุมชนเช่น คุณยายวัย 90 ปี เขาจะรู้สึกมีคุณค่าในการทำชิ้นงานได้ออกมาสวยงามได้รับคำชมจากนักท่องเที่ยว ใครอยากได้ชิ้นงานสวย ๆ ก็จะต้องไปหาคุณยายบ้านนี้ทำให้ แต่ละคนจะมีความเก่งถนัดไม่เหมือนกัน ถือเป็นการสร้างคุณค่า สร้างแรงบันดาลให้กับผู้สูงอายุในชุมชน เป็นอาชีพที่น่าส่งเสริมและสนับสนุน ที่ตลาดท่องเที่ยวจะพบงานจักสานประเภทนี้ มีการเชื่อมโยงอีกหลายแห่งช่วยเหลือกัน ทั้งยังมีประโยชน์ด้านจิตใจกับผู้สูงอายุที่จะไม่เป็นโรคซึมเศร้า สุขภาพก็จะดีจากการได้พูดคุยกันทำงานช่วยเหลือกัน และยังมีรายได้เลี้ยงครอบครัวในบั้นปลายชีวิตด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์งานจักสานบ้านท่าเคยหมู่ 6 มีให้เลือกตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่บางชิ้นใช้เวลาทำนานหลายวัน เช่น ตะกร้าใบเล็ก ราคาตั้งแต่ 20 บาท กระด้งใบละ 50 – 80 บาท กระบุงใบละ 20 บาท เปลนอนไม้ไผ่ราคาอันละ 800 บาท รังไก่ให้ไก่ฟักไข่อันละ 150 บาท ตะกร้าหิ้วใบละ 350 บาท เข่งใบละ 40 บาท เปลขนาดเล็กไว้สำหรับใส่ผลไม้ หรือจะนำไปตกแต่งบ้านก็เก๋ไก๋อีกแบบ และยังมีผลิตภัณฑ์งานจักสานอื่นๆมีให้เลือกอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นชิ้นงานที่ต้องใช้ความอดทน ทำด้วยใจรักทำให้ชิ้นงานแต่ละรูปแบบดูสวยงามมีความประณีต ใช้งานได้คงทนและยังมีราคาไม่แพงด้วย หรือใครสนใจอยากจะมาเรียนการทำตะกร้า หรือ อื่นๆก็ยินดีสอนให้ฟรี ถือว่าได้เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้สนใจงานจักสานของกลุ่มจักสานบ้านท่าเคยหมู่ 6 สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นางสาวพิมพ์ชนก ห้วยหงส์ทอง ประธานกลุ่มฯ เบอร์ 065-6626459