09 ต.ค. 2564 เวลา 8:00 น.
ประกันสังคมมาตรา 40 www.sso.go.th ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ถึงวันไหน และ สำนักงานประกันสังคม นำข้อมูลไปประมวลผลอีกรอบตรวจสอบได้ที่นี่
แม้ สำนักงานประกันสังคม โอนเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตนทั้งสามมาตรา คือ มาตรา 33,มาตรา 39 และ มาตรา 40 โอนเงินเสร็จสิ้นตามไทม์ไลน์ที่กำหนดเมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา
แต่สำนักงานประกันสังคม ยังเปิดให้ผู้ประกันตนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ ซึ่งได้รับสิทธิแต่ยังไม่สามารถโอนเงินได้ เนื่องจาก ไม่ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน , ชื่อ และ นามสกุล ไม่ตรงกับบัตรประชาชน สามารถยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้
โดยสำนักงานประกันสังคมจะนำกลุ่มทบทวนสิทธิ์นำไปประมวลผลในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ์ที่ www.sso.go.th
พื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม
ขั้นตอนยื่นทบทวนสิทธิ
- โหลดแบบคำขอทบทวนสิทธิ ที่เว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
- ปริ้นแบบฟอร์ม กรอกข้อมูลให้เรียบร้อย
- แนบเอกสารประกอบตามที่ระบุในแบบฟอร์ม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี)
- นำแบบฟอร์มและเอกสารเย็บรวมกัน แล้วนำไปหย่อนกล่องที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ หรือส่งไปสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์)
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา “ผู้ประกันตน” และผู้ประกอบการจากรัฐบาลใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ตามมติครม.ให้กระทรวงแรวงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการโครงการเยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตน ม. 33 ม. 39 และ ม. 40
ตั้งแต่ช่วงเดือนต้น ถึงวันที่ 28 ก.ย.2564 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน เพื่อให้ความช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ทั้ง 3 มาตรา ไปแล้วเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 9 หมื่นล้านบาท ให้แก่ นายจ้างกว่า 150,000 ราย ผู้ประกันตน ม.33, 39 และ 40 จำนวนเกือบ 12 ล้านคน
ส่วนที่เหลือผู้ประกันตน จำนวน 4 แสนกว่าราย และนายจ้าง จำนวนกว่า 2,100 ราย เงินยังไม่เข้าเนื่องจากสาเหตุบัญชียังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ หรือผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไม่ได้ เช่น เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกอายัดบัญชีจากกรมบังคับคดี หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเยียวยาเพิ่มเติม.
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม