น.ส. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนฯ หลังศาลฎีการับคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของเธอ
การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส. ปารีณา เป็นผลจากการยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ป่าสงวน 711 ไร่ ใน จ.ราชบุรี ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงใน 2 ข้อหาคือ เป็น ส.ส. กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเป็น ส.ส. กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง และให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
ศาลฎีกา สนามหลวง พิจารณาแล้วเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหา พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และดำเนินการครบถ้วนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 จึงมีคำสั่งให้รับคำร้อง
ส่วนที่ผู้คัดค้าน (น.ส. ปารีณา) ยื่นคำร้องขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นหรือมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเล้ว จึงมีคำสั่งให้ น.ส. ปารีณาหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ โดยนัดพิจารณาครั้งแรก (ไต่สวนพยานผู้ร้อง) ในวันที่ 30 เม.ย. 2563 เวลา 09.30 น.
คดีของ น.ส. ปารีณาถือเป็น “สำนวนแรก” ของ ส.ส. ในการกระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 ระบุว่า หากศาลฎีกาฯ พิพากษาว่ามีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ หากผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ
ย้อนเส้นทางคดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง
ข้อมูลจากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ปรากฏว่า น.ส. ปารีณา ได้ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 711-2-93 ไร่ เมื่อ 18 ปีก่อน สรุปพฤติการณ์ได้ ดังนี้
- 2546-2562 ขอใช้ไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจอมบึง และชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อ อบต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อประกอบกิจการปศุสัตว์
- 2549-2556 ชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลง ต่อ อบต.รางบัว ซึ่งมีการกระจายการถือครองที่ดิน โดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นซึ่งเป็นแรงงานที่อยู่ในฟาร์มมาถือครองที่ดินในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่ง
- 2555 โอนที่ดินกลับมาเป็นชื่อของ น.ส. ปารีณา ทั้งหมด
- 2557 อบต.รางบัว ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ แต่ น.ส. ปารีณายังคงยึดถือ ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. แต่อย่างใด
- 2555-2562 ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อ อบต.รางบัว และยื่นขอใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์
- 2561 ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการ
- 25 พ.ค. 2562 เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าว โดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต ก่อนถูกตรวจสอบจาก ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ ต่อมากรมป่าไม้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับ น.ส. ปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711-2-93 ไร่ โดยคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงินจำนวน 36,224,791 บาท
- 10 ก.พ. 2564 ป.ป.ช. มีมติว่า น.ส. ปารีณาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาโดยตรงเพื่อวินิจฉัยต่อไป
- 25 มี.ค. 2564 ศาลฎีกาประทับรับคำร้องคดีนี้
วิบากกรรมทางกฎหมายคดีที่เกี่ยวเนื่อง
นอกจากคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง นักการเมืองหญิงวัย 44 ปียังมีวิบากกรรมทางกฎหมายรออยู่อีกหลายคดี ดังนี้
หนึ่ง คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ กรณีไม่แจ้งการครอบครองที่ดิน จ.ราชบุรี ซึ่ง ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อ 7 ก.ย. 2563
โทษสูงสุดในคดีนี้คือ จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถูกให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
สอง คดีบุกรุกที่ดินป่าสงวน เนื้อที่ 711-2-93 ไร่ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) แจ้ง 4 ข้อกล่าวหา และเตรียมนำตัว น.ส. ปารีณาส่งพนักงานอัยการ แต่เธอใช้เอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส. เลื่อนการเข้าพบพนักงานอัยการมาโดยตลอด
สำหรับ 4 ข้อหา ประกอบด้วย 1) ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 และมาตรา 31 ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนชาติ โดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่โดยไม่ได้รับอนุญาต 2) ความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 3) ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน ร่วมกันเข้าไปยึดถือ ครอบครอง รวมตลอดถึงการก่อสร้างหรือเผาป่า กระทำด้วยประการใด ให้เป็นการทำลาย หรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทราย ในบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้ามในราชกิจจานุเบกษา หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดิน โดยได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต และ 4) ความผิดตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ร่วมกันประกอบกิจการน้ำบาดาล ในเขตน้ำบาดาลใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสิทธิหรือไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ในเขตน้ำบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาต
โทษสูงสุดในคดีนี้คือ จำคุก 20 ปี และปรับ 2 ล้านบาท
1 ปี 10 เดือนในสภาของปารีณา
น.ส. ปารีณา หรือเอ๋ เป็นนักการเมืองที่ยึดพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนอยู่บ่อย ๆ ในการประชุมสภานัดสำคัญ ๆ ทว่าไม่ใช่เพราะเธอคือผู้อภิปรายหลัก หากแต่บทบาทที่พรรคต้นสังกัดจัดวางไว้ให้เธอคือ “ดาวประท้วง” เพื่อคอยเตะตัดเกมของฝ่ายค้าน โดยทำหน้าที่ร่วมกับเพื่อน ส.ส. ชายของ พปชร. อาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม., นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ฯลฯ เมื่อผสมผสานกับ “วาจาและกิริยาเฉพาะตัว” ทำให้นักการเมืองหญิงวัย 44 ปีทิ้งโวหารไว้มากมายตลอด 1 ปี 10 เดือนของการทำหน้าที่ในสภา
ในระหว่างการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อ 24-27 ก.พ. 2563 น.ส. ปารีณาเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่ลุกขึ้นประท้วงนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานไม่ยอมเรียกยศ “พล.อ.” ของผู้นำรัฐบาล แต่เรียกชื่อเฉย ๆ ว่า “ประยุทธ์” หรือ “คุณประยุทธ์” เมื่อคำประท้วงของเธอไม่เป็นผล เธอจึงหันไปกล่าวในเชิงประชดประชันนายชวน หลีกภัย ประธานสภา
- ปารีณา: ขออนุญาตให้ “คุณชวน หลีกภัย” พิจารณาคำวินิจฉัยตะกี้ด้วยค่ะ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ หากสมาชิกเรียก “คุณชวน หลีกภัย” จะเป็นอย่างไรคะ
- ประธานสภา: เขาไม่เรียก “ไอ้” ก็ใช้ได้ครับ ภาษาไทย เข้าใจคำว่าไม่สุภาพ
ในศึกซักฟอกนัดเดียวกัน เธอยังประท้วง นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย หลายครั้งว่าอภิปรายนอกประเด็น และประท้วงประธานให้ควบคุมการประชุม
“ผู้อภิปรายตอนนี้เริ่มมีอาการไบโพลาร์ด้วย ต้องขอให้ประธานช่วยควบคุม”
เช่นเดียวกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. 2564 ซึ่ง ส.ส.หญิงเมืองโพธาราม ยังรับบทเดิมร่วมกับเพื่อนร่วมพรรคหน้าเดิม ๆ เพิ่มเติมคือพวกเขาช่วยกันทำหน้าที่ “องครักษ์พิทักษ์สถาบันฯ” เนื่องจากข้อกล่าวหาตามญัตติของฝ่ายค้านบรรยายพฤติการณ์ของ พล.อ. ประยุทธ์ไว้ว่า ” แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง” ทำให้เกิดการประท้วงตั้งแต่ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติ โดย น.ส.ปารีณาวิจารณ์ประธานว่า “วันนี้ท่านกำลังเปิดสภาให้จาบจ้วงสถาบันฯ”
จากนั้น น.ส. ปารีณายังผนึกกำลังกับนายสิระ เจนจาคะ ประท้วง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ผู้อภิปรายกรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดบ่อนพนัน ซึ่งไปยกผลงานของตัวเองสมัยเป็นจเรตำรวจแห่งชาตินำทีมทลายบุกบ่อนประตูน้ำปี 2547 มา “สอนมวย” รัฐบาล จนนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธาน ต้องเอ่ยปากเตือนให้อภืปรายเข้าประเด็น “เอาแบบหมัดเดียวโป้งเดียวจอด… ส่วนประวัติศาสตร์อันงดงามของท่าน เอาให้พอประมาณ”
- ปารีณา: ขอประท้วง ประธานวินิจฉัยแล้ว ยังไม่เลิกโฆษณาตัวเอง
- พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์: ชื่อเสียงผมมีอยู่แล้ว ไม่ต้องโฆษณา มีแต่ชื่อเสียง ไม่มีชื่อเสีย
นอกจากนี้ในระหว่างการอภิปรายของนายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย น.ส. ปารีณายังขอให้ประธานตรวจสอบแอลกอฮอล์เพื่อนสมาชิก
- ปารีณา: อยากให้ท่านประธานใช้อำนาจประธานตรวจสอบว่ามีแอลกฮอล์ในเลือดสูงหรือไม่นะคะ
- ขจิตร: กำลังจะบอกว่าผมเมาใช่ไหม ผมไม่ได้ดื่มนะครับ ผมพูดแบบนี้มาตั้งแต่เกิดแล้ว และผมขอให้ประธานชี้แจงให้เข้าใจด้วย ผมไม่มีแอลกอฮอล์ และไม่ดื่ม
- รองประธานฯ ศุภชัย : ผมการันตีให้ทานขจิตร ผมเป็น ส.ส. กับท่านขจิตรมายาวนาน บุคลิกท่านเป็นอย่างนี้ อย่าไปต่อล้อต่อเถียงกันเลย
- ปารีณา: ดิฉันเข้าใจว่าท่านต้องอดทนต่อพฤติกรรมของสมาชิกรัฐสภาที่มีพฤติกรรมคล้ายเมาสุรา
แต่ช่วงที่ น.ส. ปารีณากับพวกต้องทำหน้าที่อย่างหนักคือช่วงที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลอภิปราย ทั้งตอนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายปมจัดหาวัคซีนต้านวิด-19 ซึ่งถูกทีม พปชร. และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประท้วงว่าอภิปรายเสียดสี ใส่ร้าย ทั้งนี้ น.ส. ปารีณาแสดงความเป็นห่วงสภาเพราะข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่
“อย่าลืมว่าบิดาของท่านเคยไลฟ์สด จนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาแล้ว จึงน่าเป็นห่วงว่าใช้เอกสารปลอมหรือไม่” น.ส. ปารีณากล่าว
อีกตอนคือระหว่างการอภิปรายปม “ตั๋วตำรวจ” ของนายรังสิมนต์ โรม ซึ่งทีมประท้วง พปชร. พยายามตัดเกมการอภิปรายที่พาดพิงบุคคลภายนอก และประธานก็เอ่ยปากเตือนไม่ให้พูดถึงบุคคลภายนอกหลายครั้ง
- ปารีณา: ขอให้ไล่ผู้ที่ไม่เชื่อฟังออกจากห้องประชุมไปให้หมด
- รองประธานฯ ศุภชัย: คุณปารีณาไม่ต้องมาสั่งประธาน
ส.ส. รายนี้ยังลุกขึ้นประท้วงประธานด้วยให้วางตัวเป็นกลาง หลังเพื่อนร่วมพรรคถูกตัดบทขณะลุกขึ้นประท้วงการอภิปรายของนายรังสิมันต์ โดย น.ส.ปารีณาตั้งคำถามว่า “กำลังเอาใจฝ่ายค้านอยู่หรือไม่ ดิฉันประท้วงทีไร ท่านต่อว่านิด ๆ หน่อย ๆ ตลอดเลย ดิฉันจะขึ้นแล้วนะคะ”
ประวิตรบอกปารีณากำลังใจดี
หลังถูกถามถึงคำสั่งศาลฎีกาให้ น.ส. ปารีณาหยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม บอกเพียงว่า “ทราบแล้ว”
ขณะที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า พปชร. กล่าวว่า เป็นเรื่องของศาล ไม่ขอก้าวล่วง
“ไม่เป็นไรหรอก เขากำลังใจดีอยู่แล้ว” พล.อ. ประวิตรตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่าได้ให้กำลังใจ น.ส.ปารีณา อย่างไร