16 ก.พ.2564 นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับกำลังการผลิตเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ เลื่อนเป็นปี 2568 จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในปี2566 โดยวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เฉลี่ย 700 เมกะวัตต์ต่อปี เพื่อชดเชยกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรีที่จะทยอยสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2567-68 โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ 700 เมกะวัตต์มาจากพลังงานเชื้อเพลิงหลัก 455 เมกะวัตต์ และพลังงานทดแทน 245 เมกะวัตต์ โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าที่มาจากการเข้าซื้อกิจการ(เอ็มแอนด์เอ) 350 เมกะวัตต์ คาดว่าไตรมาสแรกปีนี้น่าจะปิดดีลได้อย่างน้อย 1 โครงการ ซึ่งอาจเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็ได้
ทั้งนี้ในปี 64 วางเป้าหมายการทำเอ็มแอนด์เอไม่น้อยกว่า 5โครงการ หากสามารถดำเนินการตามเป้าหมายจะทำให้กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 8,874 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันบริษัทตั้งงบลงทุนในปี 64 อยู่ที่ 15,000 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโครงการต่อเนื่อง 8,000 ล้านบาท และอีก 7,000 ล้านบาทใช้ลงทุนโครงการใหม่ หรือการทำเอ็มแอนด์เอในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว โดยมองโอกาสการลงทุนในตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต
“ในปี 64 บริษัทมั่นใจว่าจะมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้นจากปีก่อนซึ่งจากโควิด-19 รอบแรกจนถึงรอบใหม่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งปีนี้บริษัทฯ จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการเอ็มแอนด์เอ ใหม่ที่วางเป้าไว้ 350เมกะวัตต์และโครงการโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้อีก 4 โครงการ รวมกำลังผลิตตามการถือหุ้น 537.04 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 149.94 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 70%) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ 226.8 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 100%) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 49%) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong เวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ (ถือหุ้น 51%)”นายกิจจา กล่าว
นอกจากนี้ยังสนใจร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำระบบไฮบริดกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยเป็นเฟส 2 ต่อจากโครงการที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ เดิม ซึ่งโครงการที่เขื่อนอุบลรัตน์นี้ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2566 คาดว่าจะสามารถเห็นความคืบหน้าได้ในปีนี้แน่นอน
“ส่วนความสนใจในการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ล่าสุด มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 2 แห่ง พื้นที่ภาคใต้และภาคอีสาน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล รวมถึงพลังงานลม โดยคาดว่าน่าจะเริ่มจากพื้นที่ภาคใต้ก่อน เพราะมีศักยภาพพร้อม และจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ พร้อมทั้งมองหาโอกาสการลงทุนอีวี ซึ่งมองว่าต้องพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานความพร้อมของสถานีชาร์จในประเทศด้วย”นายกิจจา กล่าว