ศาลฎีกานัดฟังคำสั่งรับคำร้อง “ปารีณา” ฝ่าฝืนจริยธรรม รุกที่ป่าสงวนหรือไม่ 25 มี.ค.นี้ ลุ้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ เจ้าตัวส่งคำร้องขอศาลไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 ข่าวสดรายงานว่า ศาลฎีกานัดฟังคำสั่งในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม ในวันที่ 25 มี.ค.64
โดยขั้นตอนหากองค์คณะพิจารณาพิพากษามีคำสั่งในชั้นรับคำร้องแล้วให้รับคำร้อง จึงจะส่งสำนวนคำร้องของ ป.ป.ช.ให้ผู้คัดค้านทราบ รวมทั้งทำหนังสือแจ้งคำสั่งรับคำร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และกำหนดวันนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบถามผู้คัดค้าน โดยจะต้องกำหนดวันนัดพิจารณาครั้งแรกนี้ให้คู่ความทราบไม่น้อยกว่า 5 วันก่อนจะมีการนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน จากนั้นจึงจะกำหนดนัดวันไต่สวน
โดยข้อ 12 วรรคสอง แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า ด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้วผู้คัดค้านจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ศาลแจ้งคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ
มีรายงานว่า น.ส.ปารีณาผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่ง ให้ผู้คัดค้านไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคาดว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งในคำร้องในวันที่ 25 มี.ค.ซึ่งเป็นวันอ่านคำสั่งในชั้นรับคำร้องของ ปปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ป.ป.ช.มีมติชี้มูลเรื่องดังกล่าว 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นชอบของคณะกรรมการไต่สวนว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงและกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 11 และข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง
โดยพฤติการณ์กล่าวคือทั้งนี้ระหว่างที่ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส.สมัยที่ 4 ผู้คัดค้านได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและใช้ประโยชน์ เพื่อประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ในชื่อ เขาสนฟาร์ม และเขาสนฟาร์ม 2 ต่อเนื่องตลอดมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง ส.ส.สมัยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรทำกิน ปรากฏตามบันทึกการตรวจยึดของกรมป่าไม้
ซึ่งผู้คัดด้านได้ยึดถือครอบครองปลูกสร้างอาคารและเข้าทำประโยชน์ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ เมื่อที่ดินดังกล่าวยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน และยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จึงยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง พ.ศ.2527 และยังเป็นที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงถือว่าเป็นที่ป่า ตามความในมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของผู้ร้องว่าการถือครองที่ดินดังกล่าวได้มีการกระจายการถือครองที่ดินโดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครองที่ดินในเอกสารการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ม.ท.5) แทนและมีหลักฐานชัดเจนว่าภายหลัง เมื่อปี พ.ศ.2555 ได้มีการโอนกลับไปเป็นชื่อของผู้คัดค้านทั้งหมดเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 และผู้คัดด้านได้เป็นผู้ยื่นชำระภาษีบำรุงท้องที่ทั้ง 29 แปลง ดังกล่าว มาตั้งแต่ที่ได้รันโอนสิทธิกลับคืนมา
ทั้งนี้ยังปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้คัดด้านในเรื่องการขอใช้ไฟฟ้า การชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน การขออนุญาตประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์เขาสนฟาร์ม และขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อันเป็นการแสดงถึงเจตนาของผู้คัดค้านที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์จากที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2561 ผู้คัดค้านได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2546
โดยการอาศัยชื่อคนงานและบุคคลอื่นในการครอบครองหรือถือครองที่ดินตนเอง ทั้งที่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ.2562 สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรี ได้ปิดประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินราชบุรีให้เกษตรกรที่มีคุณสมบัติยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งผู้ครอบครองพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีการประกาศให้เข้าทำประโยชน์
แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านหรือบุคคล ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินของผู้คัดค้าน ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งการที่ผู้คัดค้านยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่กลับไม่ดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน โดยการไม่ขอเข้าทำประโยชนให้ถูกต้อง ย่อมส่อให้เห็นถึงเจตนาของผู้คัดค้านที่จะหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินบริเวณที่ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตามเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน
และเพื่อเป็นการปิดโอกาสหรือหวงกันมิให้บุคคลอื่นเข้าใช้ประโยชนในที่ดินที่ตนยืดถือครอบครอง โดยมีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นของตนมาโดย หากมีการดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ผู้คัดค้านจะไม่มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เพราะขาดคุณสมบัติในการเป็นเกษตรกร และไม่อาจถือครองที่ดินเกิน 50 ไร่
ซึ่งปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ใช้ประโยชน์ที่ดินและมีรายได้จากการใช้ประโยชน์ในที่ดิน จากประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนประมาณ 109,962,076.14 บาท ซึ่งปรากฏตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้านมีมูลค่ารวมกว่า 136 ล้านบาทเศษ จึงไม่มีคุณสมบัติ หรือ อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะมีสิทธิได้รับการอนุญาตและออกเอกสารสิทธิให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าว จึงเป็นการยึดถือครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังถูกหน่วยงานของรัฐ ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดทางอาญาฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ
ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในฐานความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2498 ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และตามพ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาอันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน สิ่งแวดล้อม หรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ ที่มีลักษณะขัดกันระหว่างประโยชน์ ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะและมีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงก่อให้เกิดความร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกบุกรุกทำลาย โดยคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท
ทั้งนี้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส. ต้องดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรม โดยจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นการกระทำที่ผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ พ.ศ.2561 หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 11 ที่ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
ทั้งนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่ผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค.2562-วันที่ 12 ธ.ค.2562 ท้องที่หมู่ 6 ต.รางบัวอ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยท้ายคำร้อง ป.ป.ช.ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่ง 1.ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีกาประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา 2.ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี