ศาลนัดฟังคำสั่ง 8 ก.พ. เพิกถอนปิดคลิปไลฟ์ ‘ธนาธร’ วิจารณ์นโยบายวัคซีนโควิด-19 ที่ถูกกล่าวหาว่าพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ‘หมอวรงค์’ แจ้งความ ‘ธนาธร’ ผิด ม.112 และ ม.116 ‘ป่าไม้’ แจ้งความดำเนินคดีพร้อม ‘แม่-พี่สาว’ รุกป่าสงวนราชบุรี
4 ก.พ.2564 ความคืบหน้าหลัง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้ายื่นขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนคำสั่งให้ปิดกั้นการเผยแพร่คลิปการไลฟ์ของตนที่วิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการกล่าวหาว่าพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยื่นคำร้องต่อศาลนั้น
วันนี้ (4 ก.พ.64) ศาลนัดไต่สวนคำคัดค้าน โดย ธนาธร ผู้คัดค้าน เดินทางมาศาลขึ้นเบิกความด้วยตัวเอง ขณะที่ฝ่ายกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้ร้อง มีข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ กับ ทศพล เพ็งส้ม ทนายความซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายให้ดีอีเอส ขึ้นเบิกความ
ธนาธร ขึ้นเบิกความ ซึ่ง สำนักข่าวไทย รายงานเนื้อหาสรุปได้ว่า เหตุผลที่ออกมาไลฟ์สด ตนเป็นห่วงเรื่องการจัดการวัคซีนของไทย ควรฉีดให้กับประชากรอย่างทั่วถึงรวดเร็ว กลยุทธ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาลไม่เหมาะสม ครอบคลุมประชากรน้อยเกินไป แผนการฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้ประเทศเสียหายเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ตามเอกสารแนบท้ายการประชุม ครม. เรื่องโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประกอบกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้แจงต่อกรรมาธิการสภาฯ ว่าจะฉีดวัคซีน 50% ได้ภายใน 3 ปี ไม่มีประเทศไหนทำอย่างนี้ หมายความว่าคนไทยต้องอยู่กับโควิดนานถึง 4 ปี การมีวัคซีนคือการเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
ส่วนกรณีที่ ธนาธร พูดถึงผู้ถือหุ้นในบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ นั้น ธนาธร ระบุมีเอกสารหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงการถือหุ้น การจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกามีสัญญา 3 ส่วน คือ 1.รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราฯ จำนวน 26 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนไทยได้ราวเดือนพฤษภาคม 2.สัญญาบริษัทแอสตราฯ กับบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน 200 ล้านโดส เพื่อกระจายขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3.รัฐบาลสนับสนุนทางการเงินให้บริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีน
ธนาธร ระบุด้วยว่า วัคซีนทั้งหมด 21.5 เปอร์เซ็นต์ มาจากบริษัทแอสตราฯ 20 เปอร์เซ็นต์ กับบริษัทซิโนแวค 1.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่กระจายความเสี่ยง บริษัทที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลต้องมีการคัดเลือกโปร่งใส และมีข่าวว่าทางยุโรปมีกรณีบริษัทผลิตยาส่งมอบวัคซีนไม่ทัน ถ้าความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นกับไทย ใครจะรับประกัน รัฐบาลกล้ารับผิดชอบหรือไม่ ถ้าเป็นตนจะไม่เลือกบริษัทสยามไบโอฯ รัฐบาลควรคำนึงด้วย
ต่อมาข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการของดีอีเอส พยานฝ่ายผู้ร้องขึ้นเบิกความ มีเนื้อหาสรุปที่มาของการตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้ไปแจ้งความกับตำรวจ ปอท. ให้ดำเนินคดีนายธนาธรในความผิดตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆ แล้วก็ได้รับอนุมัติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ให้นำพยานหลักฐานต่างๆ มายื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลอาญามีคำสั่งระงับปิดกั้น เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 URL โดยเห็นว่าการไลฟ์สดของนายธนาธรเป็นการชี้นำให้ประชาชนตั้งคำถามกับในหลวงให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัท มีผลกระทบทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในสื่อสาธารณะ
ด้าน ทศพล เพ็งส้ม พยานฝ่ายผู้ร้องอีกปาก เบิกความถึงการฟังไลฟ์ของนายธนาธร แล้วเห็นว่ามีการบิดเบือน จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ปอท. ให้ดำเนินคดีตาม ป.อาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจาก ธนาธรพยายามบิดเบือนว่า รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิดจากบริษัทแอสตราฯ แล้ว จากนั้นบริษัทดังกล่าวจึงไปว่าจ้างบริษัทสยามไบโอฯ ให้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งธนาธร ชี้นำให้เห็นว่าถ้าหากบริษัทสยามไบโอฯ ผลิตวัคซีนโควิดล่าช้า หรือไม่ได้คุณภาพ ก็จะเกิดความเสียหายกับผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงว่าตามกฎหมายแล้ว กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจะต้องรับผิดชอบมากกว่า
ภายหลังการไต่สวนคำคัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว ศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. โดยธนาธร เปิดเผยว่า ไม่ได้วิตกกังวลอะไร ศาลจะวินิจฉัยตัดสินอย่างไรก็เป็นอำนาจของศาล ตนทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่ ได้ชี้แจงเหตุผลและพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
‘หมอวรงค์’ แจ้งความ ‘ธนาธร’ ผิด ม.112 และ ม.116
วันเดียวกัน วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือ หมอวรงค์ รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมทีมไทยภักดี เดินทางเข้าแจ้งความ ธนาธร จึในข้อหา ม.112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ และ ม.116 ฐานยุยง ปลุกปั่น ที่ สน.นางเลิ้ง จากกรณีการไลฟ์สดวิจารณ์การนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 โดยกล่าวหาว่า ธนาธร บิดเบือน ก้าวล่วงสถาบันพระหากษัตริย์ ให้ร้าย และ นำไปสู่การยั่วยุปลุกปั่น พร้อมนำหลักฐาน 2 ส่วน คือ เนื้อหาการไลฟ์สด ของ ธนาธร และหลักฐานการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลกมามอบให้เจ้าหน้าที่
วรงค์ ยืนยันว่าเป็นการดำเนินการในฐานะคนไทย และไม่ได้มีกระบวนการทำลาย หรือรังแก พรรคก้าวไกลและพรรคอนาคตใหม่ตาม ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุ แต่ในทางกลับกันเห็นว่า ธนาธร ควรทบทวนตัวเอง เพราะเป็นกระบวนการทำลายสถาบันฯมากกว่า และเชื่อว่าเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงไปยังต่างชาติ พร้อมเรียกร้องไปยังนายธนาธร และพรรคก้าวไกล รวมถึงทีมงานให้เอาเวลามาช่วยดูแลประชาชนและตรวจสอบรัฐบาลดีกว่า พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครนำเรื่องสุขภาพของประชาชน และระบบการแพทย์มาเป็นประเด็นทางการเมือง
‘ป่าไม้’ แจ้งความดำเนินคดี ‘ธนาธร-แม่-พี่สาว’ รุกป่าสงวนราชบุรี
ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันนี้ (4 ก.พ.64) เวลา 15.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(บก.ปทส.) พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส. พร้อมด้วย อดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทะกษ์ป่า (ศปก.พป) และคณะร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับการเตรียมแจ้งความเพิ่มเติม สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี
อดิศร กล่าวว่า ภายหลังการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขยายผลสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องจากข้อมูลเดิมที่ได้ดำเนินการไว้ กรณีที่ดินของ สมพร พร้อมลงตรวจสอบพื้นที่จริงที่ที่ดินแปลงดังกล่าว โดยตรวจสอบพบการกระทำผิดจริง และได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วกับ สมพร ในความผิดใช้เอกสาร ภ.บ.ท.5 และ น.ส.2 ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแบบผิดกฎหมาย เนื้อที่รวม 440 ไร่ และได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางบก.ปทส. ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา
พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อดำเนินการตามมูลฐานความผิด การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือเป็นมูลฐานความผิดของกฎหมายฟอกเงิน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ในการดำเนินการรวบรวมประเมินความเสียหายภาครัฐ เพื่อดำเนินการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายภาครัฐตามระเบียบ และกฎหมายต่อไป
อดิศร กล่าวอีกว่า ต่อมาคณะเจ้าหน้าที่ของชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ได้สืบสวนสอบสวนพบว่า ยังมีการนำเอกสารสิทธิที่ดินประเภท น.ส.3ก ที่เป็นเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกจำนวนมาก ของ สมพร ชนาพรรณ และธนาธร จึงอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 60 แปลง รวมเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ นำมายึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมขยายผลสืบสวนสอบสวนตรวจสอบต่อเนื่องจนถึงวันนี้ โดยกรมป่าไม้ได้ตรวจยึดดำเนินคดีทั้งหมดเนื้อที่ 2154-3-82 ไร่ ประเมินความเสียหายภาครัฐจำนวน 147,063,223.15 บาท เพื่อดำเนินการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายภาครัฐตามระเบียบ และกฎหมายต่อไป