สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด จัดประชุมหารือกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางเพื่อนำไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน ในการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการอำนวยความยุติธรรมทั้งแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยหรือญาติซึ่งเป็นคู่กรณีพิพาทอย่างมีมาตรฐานทั่วถึงและเสมอภาค
วันนี้(13 กันยายน 2565) เวลา 09.00 น. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อประสานความร่วมมือกำหนดแนวทางในการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมีนายเชาวลิต วงศานรเศรษฐ์ ผู้ตรวจการอัยการ, นายประพัฒน์พงศ์ สุคนธร์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง, นายชัยชนะ พันธุ์ภักดีดิสกุล อธิบดีอัยการ สำนักงานศาลสูงภาค 8, นายชัยพร เกริกกุลธร อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน,ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประมุข มุทิรางกูร ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย, พลโท นายแพทย์สุทธจิต ลีนานนท์ รองประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯ, พันโท นายแพทย์โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้อำนวยการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯ และคณะเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด กล่าวว่า ภารกิจในการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนสภาพปัญหาในการปฏิบัติงานของศัลยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรักษาผู้ป่วยซึ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล หรือเกิดอุบัติการณ์ความผิดพลาดซึ่งเป็นที่ยอมรับในทางการแพทย์ว่าอาจเกิดขึ้นได้ แม้จะพยายามรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถแล้วก็ตาม ในขณะที่ผู้ป่วยและญาติมีความคาดหวังสูงในการรักษาพยาบาลที่จะประสบความสำเร็จ ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจนำมาซึ่งการร้องเรียนและฟ้องร้องต่อศัลยแพทย์ ดังนั้นการให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และการอำนวยความยุติธรรมอย่างมีมาตรฐานทั่วถึงเสมอภาคทั้งแก่ศัลยแพทย์ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยหรือญาติ ซึ่งเป็นคู่กรณีพิพาทจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง การประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดและราชวิทยาลัยศัลแพทย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานต่อไป
ด้าน นายชัยพร เกริกกุลธร อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(สคช.) กล่าวว่า สคช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์ ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรมความรู้ทางวิชาชีพที่พิเศษเฉพาะด้านและใช้ระยะเวลานาน ซึ่งทั่วประเทศมีศัลยแพทย์อยู่ประมาณ 3,400 คน นับว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ศัลยแพทย์จึงเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ หากปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะศัลยแพทย์ ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมทางวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาลแม้จะได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศได้ในอนาคต จึงได้จัดให้มีการประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วย อธิบดีอัยการ ภาค 1 – 9, รองอธิบดีอัยการ ภาค 1 – 9 ที่รับผิดชอบงาน สคช., อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายภาค 1 – 9, อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด/สาขา, อัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 1 – 4, อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ, อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค, อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ, อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย และคณะแพทย์จากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 235 คน ซึ่งจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การกำหนดกรอบความร่วมมือในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดและราชวิทยาลัยศัลแพทย์แห่งประเทศไทยต่อไปในอนาคต