หลวงพ่อขัน พุทธญาโณ วัดสระตะโก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี – “หลวงพ่อขัน พุทธญาโณ” หรือ พระอธิการขัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองราชบุรี
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
มีนามเดิมว่า นายขัน พื้นเพเป็นคนราชบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2409 ที่บ้านสิงห์ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บิดาชื่อ นายจัน (หลวงพ่อจัน จันทโชติ) หลังอุปสมบทและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์) มารดาชื่อนางนา มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกันทั้งสิ้น 10 คน เป็นบุตรคนที่ 4
พ.ศ.2430 มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ จึงเข้ารับการอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบ้านสิงห์ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีพระอธิการจัน วัดบ้านสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พุทธญาโณ
จำพรรษาร่ำเรียนพระปริยัติธรรมกับพระอธิการจัน วัดบ้านสิงห์ ผู้เป็นบิดา ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรียนวิชากับพระเกจิอาจารย์หลายรูป และบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐาน
จนราวปี พ.ศ.2450 เดินทางไปที่บ้านสระตะโก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เห็นว่าเป็นสถานที่ร่มรื่นและเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงได้ปักกลดพำนักอยู่ ชาวบ้านเกิดความศรัทธาในจริยวัตรจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาและสร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2453
มีพระครูหัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ซึ่งขณะนั้นบวชได้ 2-3 พรรษา มาช่วยท่านสร้างวัดและช่วยสอนหนังสือชาวบ้านอีกด้วย จนวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 21 ก.พ.2470
จนเมื่อสร้างวัดเสร็จชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสระตะโกรูปแรกของวัด หลังจากสร้างเสร็จ ได้พัฒนาวัดเรื่อยมาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับแล้ว ท่านจึงได้เดินทางธุดงค์อีกครั้ง
ต่อมา หลวงพ่อจัน วัดบ้านสิงห์ ถึงกาลมรณภาพ ไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ ชาวบ้านสิงห์จึงเสาะหาหลวงพ่อขัน ซึ่งขณะนั้นธุดงค์ไปในแถบเมืองย่างกุ้งและเขตชายแดนไทย-พม่าอยู่เสมอ ชาวบ้านจึงออกติดตามจนได้พบในที่สุด จากนั้นจึงพร้อมใจกันอาราธนาท่านให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์สืบต่อมา
ครั้นเมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์ ท่านพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ทั้งการสร้างศาลาการเปรียญสถาปัตยกรรมไทยโบราณ หลังใหญ่ที่มีความสวยงามวิจิตรพิสดาร ซึ่งแสดงถึงความวิริย อุตสาหะของหลวงพ่อขัน ตลอดจนชาวบ้านสิงห์ในสมัยนั้น โดยได้ไปนำไม้จากป่าใหญ่ในเขตจังหวัดราชบุรี นำเทียมโคลากเกวียนมาสร้างจนสำเร็จดังที่เห็นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังซ่อมแซมวิหารหลังเก่า สร้างเจดีย์หมู่ไม้สิบสอง เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษของท่านตากาลก่อน ชาวบ้านสิงห์รุ่นก่อนหน้านี้คงจะได้เห็นความงามของศิลปะในสมัยนั้น อีกทั้งท่านยังสร้างกุฏิสามหมู่ สร้างกุฏิสิบ สร้างถนน (ห้องสุขาพระ) แม้บัดนี้ได้รื้อไปแล้ว ยังคงเหลือแต่ความทรงจำแล้วก็ตาม
มิได้สร้างและพัฒนาแค่วัดสระตะโกกับวัดบ้านสิงห์เท่านั้น ท่านยังได้สร้างเสนาสนะ-วัดวาอาราม ไว้ตามสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ วัดขุนไทยธาราราม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี, วัดยางหัก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และสร้างวัดในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าอีก 1-2 วัด
พ.ศ.2481 เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจะต้องเดินธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ดังเช่นเคยได้ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี ครั้นเมื่อท่านได้เดินทางมาถึงเขต อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี บริเวณพื้นที่ท่าขนุน เกิดอาการอาพาธด้วยโรคไข้ป่า
ถึงแก่มรณภาพในปีพ.ศ.2481 ด้วยพิษไข้ป่า สิริอายุ 72 ปี พรรษา 51