หลวงพ่อสาลี ธัมมสโร – “หลวงพ่อสาลี ธัมมสโร” หรือ “พระครูพรหมสมาจาร” พระเกจิอาจารย์ชื่อดังราชบุรี ที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก วัตถุมงคลเป็นหนึ่งในตำนานพระเครื่องราชบุรี มีประสบการณ์มากมาย
มีนามเดิมว่า สาลี นามสกุล สุวรรณ รังษี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พ.ย.2426 ที่บ้านเกาะปม อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี บิดาชื่อนายดำ สุวรรณรังษี มีอาชีพเป็นนายอากรและทำนาทำสวน มารดาชื่อ นางวัณณา สุวรรณรังษี
เมื่อเยาว์วัยได้เรียนหนังสือกับบิดาที่บ้านพออ่านออกเขียนหนังสือไทยได้จึงนำไปฝากให้เรียนหนังสือที่สำนักสงฆ์ใกล้บ้าน
พ.ศ.2446 มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2446 ที่พัทธสีมาวัดหนองขุนชาติ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี มีพระครูอุทานธรรมนิเทศ (สุข) วัดหนองขุนชาติ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูอุทิศธรรมวินัย (สือ) วัดทุ่งทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดเสือ วัดหนองขุนชาติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
อยู่จำพรรษาที่วัดหนองขุนชาติ อยู่จนถึงพรรษาที่ 8 โดยวัดหนองขุนชาติเป็นสำนักที่เรียนทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีด้วย เมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นว่าการศึกษาภาษาบาลีก้าวหน้าพอแล้วจึงพามาฝากให้อยู่ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ มีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นผู้ดูแล
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีเหตุให้ต้องกลับไปยังเมืองอุทัยธานีด้วยอาการป่วยของบิดา-มารดา จนเมื่อท่านทั้งสองถึงแก่กรรมแล้วได้มีเหตุทำให้ต้องลาสิกขาเพื่อมาดูแลเรือกสวนไร่นาและทรัพย์สมบัติของบุพการี พ.ศ.2460 ครั้นเมื่อปลดเปลื้องจัดแจงเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปปรึกษากับพระอุปัชฌาย์รูปเดิมขออุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพ.ย.2460 ที่พัทธสีมาวัดหนองขุนชาติ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี มีพระครูอุทานธรรมนิเทศ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุทิศธรรมวินัย วัดทุ่งทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์จำรัส วัดหนองขุนชาติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธัมมสโร” อุปสมบทแล้วไม่นานก็กราบลาพระอุปัชฌาย์ออกจาริกแสวงหาที่วิเวก (แบบพระธุดงค์) พบสถานที่แห่งใดเป็นสัปปายะก็พักทำการเพียรเจริญกัมมัฏฐานอยู่ใน สถานที่นั้นๆ จนใกล้จะถึงฤดูกาลเข้าพรรษาจึงจะกลับมาอยู่ในสำนักที่มีปฏิปทา ข้อปฏิบัติเคร่งครัดเท่านั้น
ทำอยู่อย่างนี้เสมอๆ จนในพรรษาที่ 8 พ.ศ.2467 จึงได้จาริกมาถึงจังหวัดราชบุรี กับพระฉายและอุบาสกทองย้อย โดยพักที่เขาวัง ซึ่งเป็นพระราชวังร้างอยู่ในตอนนั้น เมื่อญาติโยมจากในตัวเมืองราชบุรีได้ข่าว ก็พากันมาทำบุญและฟังธรรมกันมาก
จนชาวบ้านอ้อนวอนนิมนต์ให้อยู่ จำพรรษาที่เขาวังนี้ โดยมีข้อเสนอว่า จะพากันทำหนังสือขอพระราชทานเขาวัง ให้เป็นวัด จึงตกลงใจรับภาระร่วมกับ ชาวราชบุรีที่จะสร้างวัดขึ้นบนเขาวังนับแต่บัดนั้น
จนถึง พ.ศ.2508 มีอาการอาพาธ จึงได้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี และถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2508 ด้วยอาการอันสงบ สมกับเป็นนักปฏิบัติ สมถกัมมัฏฐาน
สิริอายุ 82 ปี พรรษา 61