สยามรัฐออนไลน์
4 กุมภาพันธ์ 2564 15:46 น.
ภูมิภาค
วันที่ 4 กพ.64 นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ได้มอบหมายให้ นายเจริญชัย นพชาติสถิตย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี นายดุสิต จิรภัทรากร เลขานายก อบจ.ราชบุรี เข้าตรวจสอบพระอุณาโลมประดับทับทิม บนนลาฏ (หน้าผาก) พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ พระพุทธรูปสี่มุมเมือง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ประดิษฐานบริเวณยอดเขาแก่นจันทร์ หลังจากมีข่าวว่า พระอุณาโลมประดับทับทิมที่ประดับบนนลาฏ (หน้าผาก) สีแดง ของ หลวงพ่อดำหรือพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ พระพุทธรูปสี่มุมเมืองซึ่งประดิษฐานอยู่ที่บริเวณศาลหลักเมืองจังหวัดลำปาง ได้หายไป
หลังจากการตรวจสอบที่บริเวณองค์พระและพระอุณาโลมประดับทับทิมที่ประดับบนนลาฏ (หน้าผาก) พบว่ายังมีเม็ดทับทิม สีแดง ถูกทองปิดทับไว้ คงสภาพเหมือนเดิม ไม่มีการถูกแกะออก ซึ่งบริเวณเขาแก่นจันทร์มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตั้งแต่ด้านล่างถึงบนยอดเขา ตลอด 24 ชั่วโมง
ในส่วนของจังหวัดราชบุรีก็เป็น 1 ใน 4 ที่มีพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ พระพุทธรูปสี่มุมเมืองซึ่งประดิษฐานอยู่ในทิศตะวันตก บนยอดเขาแก่นจันทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานมาไว้ที่บนยอดเขาแก่นจันทร์ จังหวัดราชบุรี
ด้าน นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดราชบุรี พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ พระพุทธรูปสี่มุมเมืองซึ่งประดิษฐานอยู่ ในทิศตะวันตก บนยอดเขาแก่นจันทร์ นั้นทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรีมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลตลอด 24 ชม.อยู่แล้ว โดยมีการเข้าเวลาจำนวน 3 ผลัดๆละ 6 คนเข้า 8 ชม.ต่อ 1 ผลัด อีกทั้งได้กำชับค่อยสอดส่องดูแลตลอดเวลา ขณะที่มีประชาชนมากราบไหว้ และค่อยอำนวยความสะดวก โดยสถานที่ดังกล่าวยังเปิดปิดเป็นเวลาอยู่แล้ว ตั้งแต่ 05.00 – 20.00 น. ของทุกวัน
สำหรับพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือ พระพุทธรูปสี่มุมเมือง ซึ่งมีอยู่ 4 องค์ ถูกจัดสร้างขึ้นตามความเชื่อและโบราณประเพณีของบ้านเมืองที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่จะต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องขอบขัณฑสีมาทั้งสี่ทิศ โดยการสร้างพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศนั้นเป็นการสร้างพระพุทธรูปแบบ จตุรพุทธปราการ กล่าวคือ เป็นการนำเอาวัดหรือพระพุทธรูปเป็นปราการทั้งสี่ด้าน เพื่อปกป้องภยันตรายจากอริราชศัตรู ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เสริมสร้างดวงชะตาแก่บ้านเมืองและคุ้มครองพสกนิกรทั้งมวลให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ส่วนของราชบุรีเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบตามแบบศิลปะสุโขทัยมีพระพักตร์แจ่มใส พระเนตรเปิด พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย หล่อด้วยสำริดขนาดตักกว้าง 49 นิ้ว จัดสร้างโดยกรมการรักษาดินแดนเมื่อปี พ.ศ.2511 มี 4 องค์ เพื่อนําไปประดิษฐานไว้ 4 ทิศของประเทศ ได้แก่ ทิศตะวันตกประดิษฐานไว้ที่จังหวัดราชบุรี บนยอดเขาแก่นจันทร์ ทิศเหนือประดิษฐานไว้ที่จังหวัดลำปาง ใกล้ศาลหลังเมือง ทิศตะวันออกประดิษฐานไว้ที่จังหวัดสระบุรี ในศาลาแดง และทิศใต้ประดิษฐานไว้ที่จังหวัดพัทลุง ใกล้ศาลากลาง นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองเกือบทั้งองค์ โดยสาธุชนที่มานมัสการ
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเททอง ณ กรมการรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2511 และได้โปรดเกล้าฯพระราชทานแก่ตัวแทนจากทั้ง 4 จังหวัด เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำทิศทั้งสี่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2511