ครม. ไฟเขียว อนุมัติงบเยียวยาแท็กซี่-วินมอเตอร์ไซค์อายุ 65 ปีขึ้นไป ในพื้นที่แดงเข้ม 13 จังหวัดรับ 10,000 บาท อีก 16 จังหวัดรับ 5,000 บาท
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 ต.ค. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบโครงการช่วยเหลือผู้ขับขี่รถรับจ้าง คือ แท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) อนุมัติงกรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย ผู้ขับรถแท็กซี่ 12,918 ราย และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง 3,776 ราย โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- 13 จังหวัดสีแดงเข้มจะได้รับคนละ 5,000 บาท 2 เดือน รวม 10,000 บาท (กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา และสงขลา)
- 16 จังหวัดสีแดงเข้มที่ประกาศเพิ่มเติม จะได้รับคนละ 5,000 บาท 1 เดือน (กาญจนบุรี, ตาก, นครนายก, นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, สมุทรสงคราม, สระบุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง)
- ต้องมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก
- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในระบบประกันสังคม
- โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน คาดจ่ายเงินรอบแรกวันที่ 8-12 พ.ย. และรอบ 2 วันที่ 22-26 พ.ย.
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการลงทะเบียนร่วมโครงการ ว่า กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ย.
“โครงการดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป”