สักครั้งในชีวิตควรได้มากราบสักการะ “หลวงพ่อแก่นจันทน์” พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร สร้างด้วยโลหะทองคำสัมฤทธิ์ ส่วนล่างแกะสลักจากไม้จันทน์ ซึ่งเป็นไม้เนื้อหอม มีความสูงตั้งแต่พระบาทถึงพระเกศมาลา 2.26 เมตร (ประมาณ 5 ศอก) ลักษณะอุ้มบาตรของหลวงพ่อแก่นจันทน์นั้น แตกต่างจากปางอุ้มบาตรทั่วไป ตรงที่บาตรของหลวงพ่อเหมือนสวมอยู่ในถุงบาตร และพระหัตถ์ทั้งสองของหลวงพ่อนั้นจับอยู่ที่ม้วนผ้าซึ่งยื่นออกมาจากบาตรราว ๆ 1 คืบ ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อแก่นจันทน์มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันหลวงพ่อแก่นจันทน์ประดิษฐานอยู่ที่วิหารทรงจัตุรมุข โดยพระเทพญาณมุนี (ประเทศกวีธโร ป.ธ.6) อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลมและที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้สร้างถวาย เปิดให้ประชาชนเคารพกราบไหว้ได้ทุกเวลา สองตำนานแห่งหลวงพ่อแก่นจันทน์ ตำนานแรก มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์สร้างขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยชายคนหนึ่งเดินทางแสวงหาของป่าแล้วเจอเสือ จึงได้วิ่งหนีขึ้นไปบนต้นไม้ต้นหนึ่ง และอธิษฐานว่าถ้ารอดชีวิตจะนำต้นไม้ต้นนี้ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ซึ่งปรากฏว่าเขารอดชีวิตจริง ๆ จึงชักชวนชาวบ้านเข้ามาตัดต้นไม้เพื่อไปแกะสลักพระพุทธรูป ขณะตัดต้นไม้พบว่าต้นไม้นั้นเป็นไม้จันทน์หอมที่มีราคาแพงและหายากมาก เมื่อนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปเสร็จแล้ว ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่บ้านแก่งหลวง ต่อมาเกิดฝนตกใหญ่ พัดหลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยไปตามลำน้ำแม่กลอง หลายวัดพยายามฉุดไว้เพื่อนำมาประดิษฐาน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนเมื่อท่านลอยมาถึงหน้าวัดช่องลม เจ้าอาวาสได้อาราธนา ปรากฏว่าสามารถชะลอท่านขึ้นมาได้โดยง่าย นับแต่นั้นมาท่านก็ประดิษฐาน ณ วัดนี้ และทุกปีเมื่อมีเทศกาลสำคัญ ทางจังหวัดราชบุรีจะมีพิธีแห่หลวงพ่อแก่นจันทน์ไปรอบเมือง และกรมทหารช่างยังได้อัญเชิญหลวงพ่อแก่นจันทน์มาประดิษฐานหน้ากองเพื่อให้ประชาชน สักการะเป็นเวลา 6 วัน อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า หลวงปู่จันทน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลมท่านเป็นช่างไม้ ได้เจอเศียรพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่มีเพียงพระเศียรและพระอุระ ท่านจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ที่วิหารหลังเดิมของวัดช่องลม และนำไม้จันทน์หอมมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่สง่างาม ครั้นในช่วงฤดูน้ำหลาก วิหารหลังนี้ถูกน้ำท่วมและมีน้ำขังอยู่นาน ท่านจึงได้มาเข้าฝันหลวงปู่เปาะ (พระราชเขมาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลมรูปที่ 4 ) บอกว่าเจ็บพระบาท ท่านจึงได้เข้าไปดูแล้วพบว่าที่พระบาทของหลวงพ่อแก่นจันทน์ถูกปลวกกัดกินเสียหาย จึงได้ซ่อมแซมและอัญเชิญท่านมาไว้ที่พระอุโบสถ แล้วเปิดให้ประชาชนปิดทองหลวงพ่อแก่นจันทน์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่ตั้ง : วัดช่องลม อำเภอเมืองฯ ราชบุรี ใกล้บริเวณเมืองเก่า ริมถนนวรเดช ใจกลางเมืองราชบุรี เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.