จากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่สร้างขึ้นในกลิ่นอายสถาปัตยกรรมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2465 สู่การบูรณะ เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดอันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของอนุชนรุ่นหลัง และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2526 โดยในปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานเปิด พิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันนี้เพียงแค่ก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณพิพิธภัณฑ์ จะสะดุดตากับงานประติมากรรมร่วมสมัยที่สะท้อนให้เห็นว่าราชบุรีกำลังเดินหน้าสู่ความเป็นเมืองแห่งศิลปะในอนาคต ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดง 5 ส่วน คือ สภาพทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในจังหวัดราชบุรี เรียงตามลำดับยุคสมัยเริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุที่โดดเด่นนอกจากพระแสงดาบราชศัสตราประจำมณฑลราชบุรีแล้ว ยังมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีศิลปะขอมแบบบายน เป็น 1 ใน 5 องค์ที่ขุดพบในประเทศไทย ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์งดงามที่สุด เผ่าชนชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวชาวจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทยยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม มรดกดีเด่น ราชบุรีในปัจจุบัน จัดแสดงสภาพทั่วไปของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด รู้ก่อนเที่ยว มีบริการนำชมเป็นหมู่คณะและบรรยายทางวิชาการ มีบริการห้องสมุดสำหรับการศึกษาค้นคว้าและข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ตั้ง : ริมถนนวรเดช ใกล้กับหอนาฬิการิมแม่น้ำแม่กลอง (บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท (เด็กเข้าชมฟรี) ชาวต่างชาติ 100 บาท นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ภิกษุสามเณร นักบวชในศาสนาต่าง ๆ เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันนักขัตฤกษ์) สอบถามข้อมูล : โทรศัพท์ 0 3232 1513 โทรสาร 0 3232 7235